My pix

My pix

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

ความจริงเรื่องเขตแดน "เขมร-ไทย"

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ http://bt.io/GyAg
วันที่ 16 มกราคม 2554 07:33


สัมภาษณ์พิเศษ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ กรณี 7 คนไทยถูกทหารเขมรจับกุมบริเวณพรมแดนด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และถูกส่งตัวขึ้นศาลกัมพูชา

กรณี 7 คนไทยถูกทหารเขมรจับกุมบริเวณพรมแดนด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และถูกส่งตัวขึ้นศาลเพื่อดำเนินคดีในข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยทุจริตนั้น แม้ด้านหนึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์การเมืองระหว่างไทยกับกัมพูชา และบรรยากาศการเมืองภายในประเทศไทยร้อนระอุขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงก็ตาม
 
ทว่าอีกด้านหนึ่งกรณีนี้ก็ก่อคุณูปการไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการทำให้คนไทยได้ตื่นตัวกับปัญหา "เส้นเขตแดน" รอบประเทศ ซึ่งเป็นเสมือนขยะที่ซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน
เสียงตำหนิวิจารณ์ถึงความหย่อนยานของหน่วยงานที่รับผิดชอบดังกระหึ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่อยู่ตามแนวชายแดนเอง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติงานอยู่ตามจุดที่เป็นปัญหาต่างๆ และไม่ใช่แค่ชายแดนด้านเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เท่านั้น แต่เรียกว่ามีปัญหาแทบทุกด้าน ตั้งแต่ฐานกู่เต็งนาโย่ง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยันบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กันเลยทีเดียว

แน่นอนว่าทุกปัญหาย่อมมีที่มาและเหตุปัจจัย "กรุงเทพธุรกิจ" จับเข่าคุยกับ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และประธานคลังสมองวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (คลังสมอง วปอ.) เพื่อขุดค้นต้นตอของปัญหา และสำรวจทางออกเล็กๆ ที่ยังพอมี

พล.อ.จรัล ไล่เรียงปัญหาตามลำดับความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้ คือ

1. ประเทศไทยกับกัมพูชามีพรมแดนติดต่อกันระยะทาง 798 กิโลเมตร และปักปันหลักเขตร่วมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 มีหลักเขตแดนทั้งหมด 73 หลัก หลักแรกอยู่ที่ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ หลักที่ 73 อยู่ที่บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

2. หลักเขตแดนทั้งหมดดำเนินการโดยประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชาอยู่ในสมัยนั้น ทำให้ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะภูมิปัญญาไทยเมื่อร้อยปีที่แล้วยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องการทำแผนที่และปักหลักเขต ซึ่งที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้โทษหรือกล่าวหาบรรพบุรุษ แต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้น และไม่ว่าใคร ถ้าอยู่ในสมัยนั้นก็คงทำได้ดีที่สุดเท่านี้

"ยกตัวอย่างหลักเขตที่ 72 กับ 73 ในท้องที่ จ.ตราด ซึ่งลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหลายยอด ฝรั่งเศสชี้แนวเขตตรงยอดเขาที่ไม่ใช่ยอดสูงที่สุด และอยู่ลึกเข้ามาทางฝั่งไทย เราก็เอาตามนั้น จะว่าเราโง่ก็ไม่ใช่ แต่เพราะเราไม่รู้ ต่อมาเมื่อเรามีองค์ความรู้ และไปสำรวจในภายหลังก็ได้แต่งงว่าทำไมเขตแดนเป็นสันปันน้ำของภูเขาลูกที่เตี้ยกว่า และอยู่ลึกเข้ามาทางฝั่งไทย"

3. ในยุคล่าอาณานิคม เจ้าอาณานิคมของประเทศรอบบ้านไทยต่างพากันกดดันไทยเพื่อฮุบดินแดนและทรัพยากร ทำให้มีความพยายามเอาเปรียบเรื่องเขตแดน สังเกตว่าแนวชายแดนไทย-เขมร ฝรั่งเศสให้ยึดสันปันน้ำและร่องน้ำลึก แต่ทางฝั่งไทย-ลาวกลับให้ยึดขอบตลิ่งของแม่น้ำโขง คือขอบตลิ่งฝั่งไทยเป็นเส้นเขตแดน ไม่ได้ยึดร่องน้ำลึก

4. หลักเขตที่ปักกันสมัยก่อน แต่ละหลักห่างกันหลายกิโลเมตร และเป็นเสาไม้ ความไม่แน่นอนจึงเกิดขึ้น

5. ในยุคที่มีภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ และมีการสู้รบกันในกัมพูชา เขมรแดงแตกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายเฮงสัมรินกับฮุนเซน ฝ่ายพลพต และฝ่ายเขียว สัมพันธ์ เขมรเฮงสัมรินมีกองทหารเวียดนามสนับสนุน ได้รุกตีเข้ามา ทำให้เขมรแดงอีก 2 กลุ่มร่นถอยมาตามแนวชายแดนไทย และมีการย้ายหลักเขตเข้าไปทางฝั่งกัมพูชา เพื่อให้ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายตนเองเข้าไปอาศัยอยู่ จะได้ปลอดภัย เพราะเท่ากับเข้าไปอยู่ในเขตไทย แต่จริงๆ เป็นเขตเขมร

ต่อมาไทยไปร้องเรียนองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาว่าถูกรุกเข้ามาประชิดชายแดน ยูเอ็นจึงส่งกำลังเข้ามาดูแลผู้อพยพ ตอนนั้นเส้นเขตแดนไม่รู้อยู่ตรงไหนแน่นอน และเขมรแดงกลุ่มอื่นๆ ก็อยากได้รับความช่วยเหลือด้วย จึงยอมให้มีการตั้งแคมป์ช่วยเหลือผู้อพยพตามแนวพรมแดนทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา

6. หลังจากแก้ไขปัญหาเขมรอพยพได้แล้ว นักธุรกิจและนายทุนเล็งเห็นผลประโยชน์ว่าแนวชายแดนไทย-กัมพูชามีป่าไม้เยอะ จึงลักลอบย้ายหลักเขตบางหลักให้ลึกเข้ามาในเขตไทย เพื่อให้ป่าไม้ตรงนั้นกลายเป็นป่าของเขมร จะได้ตัดไม้สะดวก เมื่อป่าหมดก็ไม่ได้ย้ายหลักเขตกลับ

"จากประวัติศาสตร์หลายๆ ช่วงจะเห็นได้ว่าหลักเขตถูกเคลื่อนย้ายไปมา ไม่มีความแน่นอน กองกำลังของแต่ละฝ่ายที่ดูแลชายแดนจึงต้องตกลงกันว่าจะใช้จุดไหนเป็นเส้นแบ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเส้นเขตแดนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเส้นแบ่งที่ว่านี้ระดับกองกำลังที่ดูแลพื้นที่ต่างยอมรับซึ่งกันและกัน อย่างเช่นบริเวณชายแดนด้าน อ.อรัญประเทศ ตชด.ไทยกับทหารเขมรก็ยอมรับข้อตกลงซึ่งกันและกัน แต่พอเกิดปัญหา 7 คนไทยขึ้นมา มันกลายเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งพูดกันด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรีของประเทศ จึงคุยกันไม่รู้เรื่อง" พล.อ.จรัล สรุป

เมื่อถามถึงกรณี 7 คนไทย อดีตเลขาธิการ สมช. กล่าวว่า นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ เคยเข้าไปตรงจุดที่เกิดปัญหาแล้วถึง 2 ครั้ง และถูกจับทั้ง 2 ครั้ง แต่ ตชด.ไทยไปช่วยออกมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ก็เข้าไปอีกเป็นครั้งที่ 3 แล้วก็ถูกจับ

"ผมไม่ทราบว่าเข้าไป 2 ครั้งถูกจับทั้ง 2 ครั้ง แล้วทำไมถึงไม่เข็ด ยังเข้าไปครั้งที่ 3 อีก แล้วก็ไม่ยอมบอก ตชด.ก่อน ถ้าบอก ตชด.และมี ตชด.ไปด้วย ทหารเขมรก็จะเกรงใจ ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของการเข้าไปผมไม่รู้ แต่รู้สึกประหลาดมากว่ามีเจตนาอะไรกันแน่ พอเกิดเรื่องแล้วก็มาร้องแรกแหกกระเชอให้ระดับรัฐบาลยืนยันให้ได้ว่าเป็นเขตไทย ซึ่งจริงๆ แล้วใครก็พูดไม่ได้ ผมก็ชี้ไม่ได้ว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน ต้องให้ฝ่ายเทคนิคอย่างกรมแผนที่ทหารเป็นผู้ชี้"

"สิ่งที่เป็นความผิดพลาดของไทย ก็คือ ผู้รู้เยอะ แต่รู้จริงๆ แค่นิดเดียว ทว่าพูดเยอะมาก คุณกษิต (นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ) บอกวันแรกๆ ว่า 7 คนไทยล้ำแดนเข้าไป 500 เมตร ต่อมา รมว.กลาโหม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ก็พูดว่าจุดที่จับ 7 คนไทยเป็นดินแดนเขมร ผมถามว่ารู้ได้อย่างไร เส้นเขตแดนอยู่ตรงไหนคุณรู้หรือ ถ้าฉลาดต้องตอบว่าเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคต้องพิสูจน์ แต่พอพูดอย่างนี้เขาเรียกว่ารู้น้อยแต่มากรู้ ผมยังชื่นชม นายกฯ อภิสิทธิ์ ที่บอกให้ทุกฝ่ายหยุด แล้วให้กระทรวงการต่างประเทศพูดเพียงหน่วยเดียว"

กระนั้นก็ตาม ในฐานะที่ทำงานด้านความมั่นคงมาตลอดชีวิตราชการ พล.อ.จรัล ยืนยันว่า คำพูดของ รมว.ต่างประเทศ หรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในรัฐบาล แม้จะมีน้ำหนัก แต่ไม่ใช่การพิสูจน์ทราบเส้นเขตแดน ฉะนั้นจะมีผลเฉพาะเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนเส้นเขตแดน

เมื่อถามถึงทางออกของเรื่องนี้ พล.อ.จรัล บอกว่า มีเพียงอย่างเดียวคือระดับรัฐบาลต้องเปิดการพูดคุยเจรจากันให้ได้ จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคไปดำเนินการต่อ ซึ่งก็คือคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วม หรือ เจบีซี ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระดับต่างๆ ขึ้นมาจนถึงระดับท้องถิ่นที่มีชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมอยู่ด้วย ฉะนั้นรัฐบาลคงต้องค่อยๆ หาทางเพื่อให้เกิดกระบวนการเหล่านั้น และเดินหน้าต่อไป

คำถามที่ถามกันมากก็คือ เหตุใด สมเด็จฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา จึงมีท่าทีแข็งกร้าวกับไทยมากขนาดนี้ พล.อ.จรัล วิเคราะห์ว่า เป็นเรื่องการเมืองภายในของกัมพูชาเอง เนื่องจากสมเด็จฮุนเซนถูกกล่าวหาเรื่องการให้สัมปทานระยะยาวในที่ดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนหลายร้อยตารางกิโลเมตรกับประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่สมัยเขมรยังแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ซึ่งกรณีนี้ทำให้สมเด็จฮุนเซนถูกโจมตีจากฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองมาตลอด จึงต้องแก้เกมด้วยการหันมาเล่นงานไทย

"อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าวิเคราะห์ ก็คือ สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการไปตกลงอะไรลึกๆ กับฮุนเซนไว้หรือไม่ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นอีกขั้วหนึ่ง ผู้นำกัมพูชาถึงไม่พอใจ โดยเฉพาะพื้นที่ไหล่ทวีปที่ประกาศทับซ้อนกันอยู่"

อดีตเลขาธิการ สมช. ยังให้ข้อมูลว่า ปัญหาเส้นเขตแดนยังมีเรื่องที่น่ากังวลอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะหลักเขตที่ 73 บริเวณที่เรียกว่าแหลมสารพัดพิษ ที่บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด (ตรงข้ามจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา) มีนายทุนเข้าไปไถภูเขาบริเวณนั้นเพื่อทำที่จอดรถสำหรับคนที่จะข้ามไปเล่นการพนันในฝั่งเขมร ทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลง แนวสันเขาที่เป็นสันปันน้ำก็เปลี่ยนไปด้วย ตรงนี้จะโยงไปถึงเกาะกูด ซึ่งไทยอาจเสียเปรียบได้ในอนาคต เนื่องจากเกาะกูดอ้างอิงจากเส้นเขตแดนจากหลักเขตนี้ รวมถึงไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกันด้วย

"ความย่อหย่อนของเราคือนายอำเภอเพิกเฉย ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ทำอะไรเลย" พล.อ.จรัล กล่าว

ในฐานะอดีตเลขาธิการ สมช. เขาแนะว่า การจะแก้ไขปัญหาเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยต้องมองบริบทการเมืองโลกด้วย ซึ่งมีความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่ไทยต้องสังเกตและถ่วงดุลให้ดี

"ในโลกนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าผลประโยชน์ พูดตรงๆ กัมพูชานั้นใครๆ ก็อยากเข้าไปลงทุน เพราะมีทรัพยากรมาก อเมริกาก็ด้วย จีนก็เช่นกัน ขณะที่สหรัฐกับจีนกำลังขัดแย้งกันอยู่ ไทยจึงต้องสร้างดุลยภาพของตัวเองให้ดี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือพลังอำนาจของไทยถูกลิดรอนจากปัญหาขัดแย้งภายใน ถ้ารวมพลังกันสามัคคีกันก็จะสู้ได้ เหมือนยุคสมัย จอมพล ป. ที่เคยเอาชนะฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนมาแล้ว" พล.อ.จรัล กล่าว

ถึงที่สุดก็หลีกไม่พ้นปัญหาที่เป็นดั่งสนิมเกิดแต่เนื้อในตน!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น