My pix

My pix

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

เปิดตำนานกรุสมบัติวัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย


ที่มา http://artsmen.net
14 เม.ย. 2548 - 12:42:46 




ภาพของมงกุฎทองคำในพิพิธ ภัณฑ์ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์  อาเซียนอาร์ต สหรัฐอเมริกา ปรากฏออกมาสู่สาธารณะ นักวิชาการด้านโบราณคดีเชื่อว่าจะเป็นเครื่องทองกรุเดียวกับวัดราชบูรณะในกรุนี้ยังพบทองคำเครื่องทองคำราชูปโภคจำนวนมาก จากคำให้การคนร้ายขุดกรุมหาสมบัติในพระปรางค์ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน พ.ศ. 2500 ร่วมด้วยคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์และนักค้าของเก่า ประมาณว่าเครื่องทองคำราชูปโภคได้จากกรุวัดราชบูรณะมีน้ำหนักราว 100 กิโลกรัม

ทองคำส่วนหนึ่งกรมศิลปากรตามมาได้จากกรุแห่งนี้ส่วนหนึ่งจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา จากบันทึกของคำให้การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ข้อมูลกับผู้เข้าชม มีใจความสำคัญว่า ภายในกรุ ข้าง ล่างนั้นมีโต๊ะสำริด 3 ตัวตั้งอยู่ทิศตะวัน ออก ทิศใต้ และทิศเหนือ ตรงกลางของกรุ ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างราว 1 วาเศษ บน แท่นศิลากลางกรุ มีถาดทองคำ 3 ใบ บนถาดมีกระโถนทองคำ 4 ใบ มีไข่มุกอยู่เต็มกระโถน และพบแหวนประมาณ 2,000 วง บนแท่นยังพบพระแสงทองคำปักไว้ข้างขอบ โต๊ะ มีเสื้อทองคำ 8 ตัว มหามงกุฎกว้าง 1 ศอก สูง 2 ศอกเศษ มีจอกทองคำประดับด้วยทับทิม และมงกุฎราชินี 3 อัน ตลับทอง 12 ใบ


ส่วนบนโต๊ะด้านทิศตะวันออก มีมหามงกุฎราชินี 5 อัน วางไว้บนโต๊ะ เสื้อทองคำของพระมหากษัตริย์ เรือหงส์ทองคำ 1 ลำ คนพายเรือทองคำ พระพุทธรูป 20 องค์ กระบวยทองคำ 8 อัน พร้อมม่านทองคำขึงท้องพระโรงก้อนใหญ่

โต๊ะทางทิศใต้เต็มมีพระพุทธ รูป 25 องค์ ตลับ พระแก้วมรกต 4 องค์ พระพุทธทำด้วยทอง นาก เงิน มีผ้าพับ ไว้อย่างดี แต่เมื่อถูกก็เป็นผุยผง นอกจากนี้มีพระราชรถคันหนึ่งมีม้าเทียมคู่หนึ่งทำด้วยทองคำ มีขวด 6 ลูก ทำด้วยสีขาว มีแหวนอยู่เต็มขวด และเศษทองอีก 10 กระสอบ


จุดแสดงเครื่องทองราชบูรณะอยู่บนชั้นสอง ภายในห้องนี้ได้แสดงเครื่องประดับทองคำเครื่องใช้ทองคำของพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎทองคำ เข็มขัด ปั้นเหน่ง แหวน กำไล สร้อยพระหัตถ์ แผ่น ทองคำและตู้สำคัญจัดแสดงพระแสงขรรค์ชัยศรี องค์พระแสงขรรค์ทำด้วยเหล็กมีคม 2 ด้านแฝงความหมายของความยุติธรรมแห่งองค์พระมหากษัตริย์ หากต้องลงดาบจะไม่สามารถเลือกด้านใดด้านหนึ่งได้ ฝักทองคำจำหลักลายประจำยาม ลายกนกประดับอัญ มณี ด้ามทำด้วยเขี้ยวหนุมาน หรือหินควอทซ์ซึ่งมักเรียกว่าแก้วผลึกเป็นรูปแปดเหลี่ยม


อ.เผ่าทอง ทองเจือ คณบดี  คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี  เท้าความให้ฟังถึงประวัติของวัดราชบูรณะว่า วัดนี้เจ้าสามพระยาเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1967 ในสมัยอยุธยาตอนต้น การ สร้างพระปรางค์องค์นี้ พระเจ้าสามพระยาโปรดให้สร้างกรุขึ้นด้วย คือห้องเก็บสมบัติ นั่นเอง ซ้อนลงไปใต้ดิน 3 ชั้น แล้วบรรจุของมีค่า เสร็จแล้วจึงก่อพระปรางค์ทับ การ ที่ทำเช่นนี้คนโบราณเชื่อว่าเป็นการสืบทอดพระศาสนา เพราะเชื่อว่าเมื่อพุทธศาสนาครบ 5,000 ปี จะล่มสลายหากแต่สมบัติยังอยู่ จะเป็นเครื่องยืนยันว่าเมื่ออดีตดินแดนแห่งนี้เคยมีพระพุทธศาสนา


เจ้าสามพระยา เป็นลูกของสม เด็จพระอินทราชา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีโอรสนามว่า พระอ้ายพระยา, พระยี่พระ ยา, พระสามพระยา ต่อมาปี พ.ศ. 1952 สมเด็จพระอินทราชาเสด็จสวรรคตโอรสองค์ใหญ่ยกทัพจากสุพรรณมาเพื่อชิงราชสมบัติ อยุธยากับเจ้ายี่พระยา ที่ยกทัพมาจากเมือง แพรกศรีราชา ทั้งสองพระองค์เคลื่อนทัพมาบริเวณวัดป่าถ่านในปัจจุบัน ทรงพระแสงของ้าวฟันต้องพระศอขาดพร้อมกัน เจ้าสามพระยาจึงเสด็จจากเมืองชัยนาทมาเสวยราชสมบัติแทน ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงอุทิศถวายเพลิงสร้างพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุและพระวิหารเป็นพระอารามเรียกว่า "วัดราชบูรณะ"


อ.เผ่าทองเล่าต่อว่า เครื่องทองทั้งหมดอยู่ในห้องนี้ได้จากเจดีย์องค์หนึ่งพระปรางค์ (เจดีย์ทรงฝักข้าวโพด) ตั้งแต่  พ.ศ. 1967 กรุแห่งนี้ปิดมาตลอดจนกระทั่งปี 2501 มีคนร้ายเข้ามาลักลอบขุดพระ ปรางค์ แล้วเจอกรุทองคำ เริ่มมีการลักลอบ ขโมยออกมาทีละเล็กทีละน้อย จนสมัย นั้น มีการพูดกันว่าร้านทองใน ต.หัวรอ  ต้องเปิดเตาเบ้าหลอมทองทั้งวันทั้งคืน เพื่อ ให้ออกมาเป็นทองคำแท่งเลี่ยงไม่ให้ตำรวจ จับได้



ต่อมาตำรวจและกรมศิลปากรจึงได้ทราบว่ามีการลักลอบเนื่องจากมีคนร้ายสติฟั่นเฟือนเพราะร่ำรวยจากทรัพย์สมบัติที่ขุดได้ ออกมายืนถือพระแสงขรรค์รำอยู่ที่ตลาด เมื่อจับมาตรวจสอบพบว่าเป็นทองคำจริง สอบปากคำและตรวจสอบกรมศิลปากรจึงตามไปขุดค้นขึ้นมา 

ทองคำที่เห็นอยู่ในห้องแห่งนี้เป็นเพียงส่วนเดียวที่เหลือจากการขุดของคนร้าย สันนิษฐานว่าทองคำมหาศาลพบในกรุแห่งนี้บางส่วนมาจากเมืองเสียมเรียบของเขมร เนื่องมาจากเจ้าสามพระยาไปตีเมืองเสียมเรียบได้




สิ่งสำคัญภายในห้องแสดงเครื่องทองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งนี้ ยังมีองค์พระปรางค์สีน้ำตาล มีแผ่นทองแปะอยู่บางส่วน เป็นพระปรางค์องค์จำลองที่เจ้าสามพระยาสร้างไว้ เพื่อจำลองการสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งบรรจุไว้ในกรุด้วยจึงก่อพระปรางค์องค์ใหญ่ทับ คนร้ายไม่สามารยกพระปรางค์ทั้งหมดออกไปขายได้ ต้องใช้มือฉีกทองออกเนื่องจากเป็นทอง 100 เปอร์ เซ็นต์ มีความอ่อน ทองที่ฉีกไปคาดว่านำไปหลอมหมดแล้ว ทำให้หลงเหลือเท่าที่เห็น

อาจารย์เผ่าทองยังบอกเล่าถึงความสำคัญของเครื่องทองเหล่านี้ที่สำคัญได้แก่ มงกุฎทองถักชิ้นนี้น่าจะเหมือนกับที่แสดงในสหรัฐ แต่ควรเรียกว่า "ศิราภรณ์" หรือเครื่องประดับพระเศียร เป็นตาข่ายถักด้านหลังเว้าเป็นวงโค้ง เพื่อที่จะรัดเกล้าหรือมวยผมต่ำอยู่ที่ท้ายทอยพอดี


"ศิราภรณ์ที่พบในสหรัฐเป็นทอง คำทึบ แต่อันที่เห็นเป็นทองคำโปร่ง อาจเปรียบได้เหมือนเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ในฤดูต่าง ๆ องค์ทึบน่าจะเป็นฤดูหนาว องค์โปร่งน่าจะเป็นฤดูร้อน ลายด้านข้างเป็นลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนลายเดียวกับที่ฟิลาเดลเฟีย" 


ทองคำภายในกรุ ส่วนหนึ่งนำมารีดให้เป็น "ลานทอง" โดยนำทองคำมารีดเป็นแผ่นแล้วจารึกข้อความพระไตรปิฎก ต่าง ๆ ลงไป เป็นการสืบพระศาสนา และยังมีทองคำแผ่นที่ตีเป็นรูป ช้าง ม้า หัว ควาย สัตว์สำคัญในพระพุทธศาสนา และหลักฐานสำคัญถึงความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินล้านนากับอยุธยา คือ "พวงหมากสายทองคำ" ที่มีให้ชมอยู่ภายในห้องนี้ เป็นวัฒนธรรมของคนเหนือที่ยังทำอยู่ โดยเอาหมากมาร้อยแล้วตากแห้งเพื่อเก็บไว้กินในฤดูที่ไม่มีหมาก

ลวดลายสำคัญที่จำหลักอยู่บนสร้อยพระหัตถ์ มีส่วนประกอบของหอยเบี้ย ทับทิม เรียกว่า "เบี้ยแก้" คนโบราณมักเอาหอยเบี้ยมาลงอาคมแล้วพกติดตัวไว้ป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้ามาหาตัว ลวดลายของเข็มขัดทองประดับทับทิมเป็นเครื่องทองอีกชิ้นที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ได้ว่าสมัยนั้นเริ่มมีสัมพันธ์กับจีนแล้ว โดยดูจาก "ลายเงื่อนพิรอด" มีลักษณะบิดไปบิดมาเป็นเกลียว เงื่อนพิรอดหมายถึงเชือกที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด เป็นสัญลักษณ์ของความอยู่ยงคงกระพันมีอายุยืนยา



บันทึกอีกหน้าแห่งความยิ่งใหญ่ยศยิ่งฟ้าของอยุธยามรดกโลก.

วัดราชบูรณะ




วัดราชบูรณะอยู่ริมถนนมหาราช ห่างจากวัดประมาณ 200 เมตร ปัจจุบันสามารถเข้าไปชมภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะได้ กรุนี้มี 2 ชั้น ชั้นบนสูงจากระดับพื้นประมาณ 5 เมตร กรุด้านล่างอยู่สูงจากพื้นดิน 2.2 เมตร ผนังส่วนล่างเจาะเป็นซุ้มทั้ง 4 ด้าน แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีสมบัติล้ำค่า อยู่ แต่ยังมีสิ่งที่มีคุณค่าทางศิลปะ คือจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นภาพชุมนุมประกอบลายดอกไม้ร่วง ผนังทิศตะวันออกและทิศใต้ เขียนภาพแบบจีน เขียนด้วยสีฝุ่นใช้สีแดง ดำ และขาว




                                                                                     








ทฤษฏีสมคบคิด - มองสถานการณ์ในลิเบียผ่านทฤษฏีสมคบคิด




พันเอก ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง
นักวิชาการด้านความมั่นคงอิสระ



วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ.2554
สถานการณ์โดยรวม


       จากวันที่สหประชาชาติ โดยคณะมนตรีความมั่นคง เริ่มมีมติ 1973 ที่บังคับให้เกิด No Fly Zone เหนือน่านฟ้าลิเบีย ภายใต้กฏบัตรสหประชาชาติ หมวดที่ 7 (Chapter VII, UN Charter) ที่ตามมาด้วยการโจมตีภายใต้การนำของ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ต่อมาสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีที่ค่อนข้างระมัดระวัง ในการแสดงต่อ การโจมตีลิเบีย และไม่แสดงตนเป็นผู้นำในการปฏิบัติการ ต่อมาสหรัฐฯ เริ่มถอยห่างออกจากการปฏิบัติการในลิเบีย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯ เองที่ทำให้ต้องสงวนท่าที และ ที่สำคัญ สหรัฐฯ ใช้น้ำมันจากประเทศลิเบีย เพียง 3% ในขณะที่ประเทศรายใหญ่คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ ที่ใช้น้ำมันจากประเทศลิเบีย ถึง 30% - 40% ทำให้ภาพในปัจจุบันความรับผิดชอบหลักในลิเบียเป็นกลายมาเป็นของ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization : NATO)
        ภายหลังจากความรับผิดชอบทั้งมวลในลิเบียตกเป็นของ NATO สิ่งที่เริ่มปรากฏให้เห็นคือ ความสามารถในการปฏิบัติการในลิเบีย เพราะประเทศเดียวในโลกที่สามารถนำกำลังจำนวนมหาศาล ไปยังประเทศไหนก็ได้ในโลกคือ สหรัฐฯ ถ้าสหรัฐฯ ไม่นำกำลังเข้าไปในลิเบียแล้ว ประเทศอื่นก็ยากที่จะทำได้ เพราะถ้าประเทศอื่นจะทำได้ต้องประกาศสงคราม เพราะต้องให้ผู้บริหารประเทศ หรือรัฐสภาของประเทศตนอนุมัติ ทำให้ภาพความชัดเจนของความสำเร็จในการโค่นล้มอำนาจของ พ.อ.กัดดาฟี่ จึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ
        ดังนั้นหากจะต้องการให้ความได้เปรียบที่เกิดขึ้นในลิเบียสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ชาติตะวันตกที่เข้าไปยังลิเบียหวังไว้ จะต้องใช้แนวทางเดียวคือ การทำสงครามนอกแบบ (Unconventionl Warfare) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สงครามกองโจร (Guerilla Warfare) โดยการฝึกสอนการใช้อาวุธและยุทธวิธีสงครามกองโจร และส่งอาวุธให้กลุ่มต่อต้าน ดังจะเห็นได้จากข่าวการส่งอาวุธ ของฝรั่งเศสผ่าน กาตาร์ ซึ่งฝรั่งเศสก็ไม่ได้ส่งอาวุธให้โดยตรงอาจจะมีข้อจำกัดบางประการไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความสัมพันธ์กับประเทศมุสลิม และที่สำคัญคือ ฝรั่งเศส ในช่วงหลังจากสงครามเย็นมานั้น ฝรั่งเศสอาจจะไม่มีประสบการณ์และทรัพยากรมากพอในการทำสงครามนอกแบบ เพราะประเทศที่มีศักยภาพในการทำสงครามนอกแบบภายหลังจากสงครามเย็นยุติ ต้องเป็นประเทศที่มีนโยบายส่งการแผ่อำนาจทางทหาร ซึ่งนั่นก็คือสหรัฐฯ นั่นเอง เพราะในยุคสงครามเย็นกองทัพสหรัฐฯ มีกำลังมากพอและมีประสบการณ์ในการจัดตั้งกองโจรมาตั้งแต่สงครามเวียดนามตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เพราะปัจจุบันยังตั้งกองโจรในหลายประเทศ เช่น ในอัฟกานิสถาน และ อิรัก ที่เห็นได้อย่างเด่นชัด ยังไม่นับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏให้เห็น
        จริงอยู่แม้อังกฤษและฝรั่งเศสจะมีประสบการณ์และชื่อเสียงในเกี่ยวกับสงครามนอกแบบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะหลังจากฝรั่งแศสพ่ายแพ้ต่อเยอรมัน ฝรั่งเศสก็ต้องใช้สงครามกองโจรสู้กับเยอรมัน หรืออังกฤษ ทำสงครามกองโจรที่มีชื่อเสียง ในนามของ ลอเรนซ์แห่งอาระเบีย (Lawrence of Arabia) การรบในมาลายู แต่ในช่วงหลังสงครามเย็นเป็นตนมา การทำสงครามกองโจรของอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นไปอย่างจำกัด และรวมทั้งการจัดหน่วยรบพิเศษต่างๆ (หน่วยรบพิเศษเป็นทหารที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสงครามกองโจร) ของทั้งสองประเทศยังมีจำนวนไม่มากและมีขอบเขตปฏิบัติการไม่เท่ากับสหรัฐฯ ได้เลย ด้วยสาเหตุเหล่านี้จึงทำให้การปฏิบัติการทางทหารในลิเบีย ของ NATO จึงเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอน ขาดพลังอำนาจที่มีความเด็ดขาดอย่างเห็นได้ชัด
        อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือน มี.ค.54 ทางสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ทาง หน่วยข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency : CIA) สหรัฐฯได้อนุมัติให้ ทาง CIA เข้าไปจัดหาและส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับทางกลุ่มต่อต้านในลิเบียได้ การส่ง CIA เข้าไปปฏิบัติการนั้นความจริงไม่เป็นเรื่องใหม่อะไร เพราะ CIA เคยทำงานในลักษณะนี้มาหลายครั้งในหลายประเทศแล้ว แต่การส่ง CIA เข้าไปนั้นจะมีความแตกต่างกับส่งหน่วยรบพิเศษที่ชื่อ Green Beret เพราะหน่วย Green Beret นั้นเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ในการจัดตั้งกองโจร ( 1 ชุดปฏิบัติการ 12 นาย สามารถจัดตั้งกองโจรได้ 1,500 คน) แต่ CIA นั้นเป็นหน่วยงานข่าว การเข้าไปนั้นเป้าหมายหลักคืองานด้านข่าวกรอง และอาจจะเป็นที่ปรึกษาทางทหารให้กับกลุ่มต่อต้านได้ แต่อาจจะไม่เหมาะกับการจัดตั้งกองโจร หรือ ฝึกกองโจร ความจริงแล้ว อังกฤษเองก็ได้ส่งหน่วยรบพิเศษ (น่าจะเป็น Special Air Services : SAS) และหน่วย MI 6 ซึ่งเป็นหน่วยงานข่าวกรอง ของอังกฤษ ประมาณ ไม่เกิน 20 คน เข้าไปปฏิบัติการในลิเบีย
        ในช่วงกลางเดือน เม.ย.54 ที่ผ่านมาได้ปรากฏข่าวว่า พ.อ.กัดดาฟี่ ได้ยอมรับ Roadmap ที่เสนอโดยสหภาพแอฟริกา ในการที่จะหยุดยิงกับฝ่ายกลุ่มต่อต้าน โดย พ.อ.กัดดาฟี่ สามารถอยู่ต่อในอำนาจได้ แต่ฝ่ายกลุ่มต่อต้านยังปฏิเสธ Roadmap เนื่องจากฝ่ายกลุ่มต่อต้านต้องการให้ พ.อ.กัดดาฟี่ และลูกชายออกนอกประเทศในทันที การก้าวเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงท่าทีของ สหภาพแอฟริกา ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทสำคัญของภูมิภาค สำหรับ สหภาพแอฟริกา นั้นจะมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่ผ่านมา สภาของสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณ 173 ล้านเหรียญ ให้กับกองกำลังของสหภาพแอฟริกา เพื่อใช้ในภารกิจรักษาสันติภาพ ที่ ดาร์ฟู ประเทศซูดาน ปัจจุบันกองทัพไทยก็ส่งกำลังทหารไปรักษาสันติภาพที่นั่น
        ปัจจุบันได้มีข่าวว่าทาง NATO ที่สนับสนุนการปฏิบัติการในลิเบียเริ่มที่จะขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะส่งให้กลุ่มต่อต้านเนื่องจากสหรัฐฯ ถอนตัว ทำให้เป็นการตอกย้ำว่าความสามารถในการทำสงครามกองโจร ในลิเบียเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะหัวใจหลักในการทำสงครามกองโจรคือ ความสามารถในการสนับสนุนของประเทศอุปถัมภ์ (Sponsor) นอกจากนี้การที่กลุ่มต่อต้านได้แถลงการณ์ตำหนิ NATO ว่าการโจมตีฝ่าย พ.อ.กัดดาฟี่ ของ NATO เป็นไปอย่างไม่เด็ดขาด ประเด็นเหล่านี้ทำให้สะท้อนถึงโอกาสแห่งความสำเร็จของการใช้กองโจร (กลุ่มต่อต้าน) ที่เป็นไปด้วยความยากมากขึ้น
มองลิเบียผ่านทฤษฏีสมคบคิด
        ก่อนที่จะเขียนถึงทฤษฏีสมคบคิดนั้นคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทฤษฏีสมคบคิดนั้นเป็นการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะของการอนุมาน ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ปรากฏให้เห็นมากนัก โดยมากผู้ที่ใช้มักจะเชื่อมโยงปรากฏการณ์ต่างที่เกิดขึ้นเข้าด้วยกัน แต่การเชื่อมโยงนั้นไม่มีสิ่งใดระบุได้อย่างชัดเจน เป็นเพียงการอนุมานเท่านั้น และก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดในมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติของ สัจจะนิยม (Realisim) ยังคงเป็นเรื่องที่ประเทศที่มีพลังอำนาจของชาติที่ทรงพลังและเข้มแข็ง ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกประเทศ เพื่อรักษาสิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์ของชาติ (National Interest) เป็นสำคัญ
        สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงทฤษฏีสมคบคิดสำหรับสถานการณ์ในลิเบีย นั้นเกิดมาจากความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ของทวีปแอฟริกา ที่ปัจจุบันยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีให้ใช้จำนวนมหาศาล ประกอบกับการการเติบโตของประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การค้าเสรี และ ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร แต่หากเมื่อไรมีสิ่งใดที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ แล้ว สหรัฐฯ เลือกที่จะรักษาผลประโยชน์ ของประเทศตนก่อนโดยไม่สนใจว่าจะละเมิดสิ่งใดบ้าง หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นประเทศที่ “Walk like a realist, Talk like a liberal.” เพราะฉะนั้นผลประโยชน์ในทวีปแอฟริการเป็นสิ่งที่ต้องแย่งชิง เพื่อครอบทรัพยากรที่สำคัญ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานของการผลิต ที่นำไปสู่การบริโภคในที่สุด สิ่งที่ยืนยันความสำคัญของประเด็นนี้คือ การเข้าโจมตีทางอากาศของ สหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตร เพราะยังมีที่อื่นในโลกที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่านี้ และรวมถึงการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกลุ่มต่อต้าน อีกด้วย
        นอกจากนี้สหรัฐเป็นประเทศที่มีประวัติหลายครั้งที่เข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศที่เป็นคู่ปรปักษ์ด้วยการติดต่อคู่ขัดแย้งทั้งสอง เช่นในสงครามอิรัก อิหร่าน 8 ปี ที่สหรัฐฯ สนับสนุนอิรัก แต่แอบขายอาวุธแบบลับๆ ให้กับอิหร่าน จนเป็นคดีความกันขึ้นมาจนโด่งดังไปทั่วนั้นคือ กรณี อิหร่าน คอนทรา
        ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีที่สนับสนุนแนวคิดในการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ดังที่ปรากฏตามสื่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี จอร์จ บุช ประธานาธิบดีบิล คลินตัน และ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประกอบกับได้เข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศของระเทศต่างๆ ทั้งรูปแบบ การทูต การเศรษฐกิจ และ การทหาร ในระดับที่แตกต่างตามบริบทของประเทศนั้นๆ
        ต่อมาคือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของลิเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือน้ำมัน ที่เด่นชัดคือ การให้กลุ่มต่อต้านยึดครองเมืองสำคัญที่มีน้ำมัน และอนุญาตให้กลุ่มต่อต้านขาย น้ำมันเพื่อนำไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และเป็นทุนในการทำสงครามกับกองกำลังของ พ.อ.กัดดาฟี่ ดังจะเห็นได้จากที่สหรัฐฯ ยินยอมให้กลุ่มต่อต้าน ขายน้ำมันได้ และที่ผ่านมาได้มีการส่งขายออกไปยังกาตาร์ และจีน
        การเสนอ Roadmap โดยสหภาพแอฟริกา ถึงแม้ว่าสหภาพแอฟริการจะเป็นองค์กรหลักในภูมิภาค ที่ให้ความสนใจกับสถานการณ์ในลิเบีย แต่ต้องสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้คือ ความสัมพันธ์ที่ดีของ สหภาพแอฟริกา กับ สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป ทำให้การเสนอแผนปฏิรูป ตาม Roadmap อาจมีวาระซ่อนเร้น ที่นำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในลิเบีย นอกจากนี้ สหภาพแอฟริกา ยังเป็นองค์กรที่มีชื่อปรากฏว่าเป็นหนึ่งใน จุดหลักสำคัญ (major milestones) ในแนวคิด New World Order
        จากที่กล่าวมาในข้างต้นสามารถแบ่งความเป็นไปได้หากวิเคราะห์สถานการณ์ในลิเบียผ่านทฤษฏีสมคบคิด เป็นฉากทัศน์ได้ดังนี้
        ฉากทัศน์ที่ 1 : การแบ่งแยกลิเบียในส่วนที่มีน้ำมัน แล้วเข้าใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจน้ำมัน แนวคิดนี้จะมีสิ่งปรากฏให้เห็นชัดคือ การช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มต่อต้านในการยึดครอง เมืองต่างๆ และตามมาด้วยการให้กลุ่มต่อต้านสามารถส่งออกน้ำมันแล้ว นำรายได้มาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อนำมาต่อสู่กับกองกำลังของ พ.อ.กัดดาฟี่ แนวทางนี้จะเป็นประโยชน์ในการณีที่สถานการณ์ไม่พัฒนาไปจากปัจจุบัน คือ ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถรุกคืบหน้าได้ แต่ซึ่งก็ไม่มีความสำคัญใดๆ แล้ว เพราะหากเป็นอย่างนี้กลุ่มต่อต้านก็ต้องขายน้ำมันนำมาซื้อาวุธสู้กับ พ.อ.กัดดาฟี่ตลอดไป ปัจจุบัน มีการส่งออกน้ำมันของกลุ่มต่อต้านในลิเบีย ประเทศที่ซื้อน้ำมันจากลิเบียไปแล้วคือ กาตาร์ และจีน ปัจจุบัน กลุ่มต่อต้านรัฐบาลสูบน้ำมันดิบจากบ่อประมาณ 80,000-120,000 บาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่การก่อความไม่สงบในช่วงกลางเดือน ก.พ.54 ลดลงจาก 420,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงก่อนเกิดเหตุการก่อความไม่สงบ
        ฉากทัศน์ที่ 2 : การช่วยเหลือให้ พ.อ.กัดดาฟี่ อยู่ในอำนาจต่อ ภายใต้เงื่อนไขการปฏิรูปประเทศ แล้วเข้าใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจน้ำมัน สิ่งที่ยืนยัน ฉากทัศน์นี้คือ การก้าวเข้ามาของสหภาพแอฟริกา เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติการทหาร เพราะประธานาธิบดี โอบามา ประกาศนโยบายหาเสียงก่อนเข้าบริหารประเทศ ว่าจะพาทหารกลับบ้าน (ทหารในอิรัก และอัฟกานิสถาน) แต่พอ ประธานาธิบดี โอบามา สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ก็ไม่สามารถพาทหารกลับบ้านได้ อย่างที่ได้เคยหาเสียงไว้ ทำให้ในลิเบีย สหรัฐฯ ไม่สามารถใช้กำลังทหารของตนได้ แนวทางการเข้าแทรกแซงผ่านทาง สหภาพแอฟริกา จึงเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด เพราะลิเบีย โดย พ.อ.กัดดาฟี่ จะตอบรับสหภาพแอฟริกา ได้สะดวกและสนิทใจ มากกว่าองค์กรอื่นๆ อย่างสหภาพยุโรป และ สันนิบาตอาหรับ (ลิเบียเคยจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ) อีกทั้ง พ.อ.กัดดาฟี่ ยังสามารถอยู่ในอำนาจต่อได้ ขอเพียงทำการปฏิรูปประเทศ การดำเนินการในลักษณะนี้หากสำเร็จ การเปลี่ยนแปลงในลิเบียจะเป็นการเปลี่ยนผ่านโดยสงบ ซึ่งแนวทางนี้ สหรัฐฯ เคยยื่นข้อเสนอให้กับประเทศไทยในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา นั่นคือ ปฏิรูปไม่ใช่ปฏิวัติประชาชน (Reform not Revolution) โดยภายหลังการปฏิรูปประเทศ จะกลายเป็นช่องทางให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลในลิเบียได้สะดวกมากกว่าเดิม เพราะการปฏิรูปจะนำลิเบียไปสู่การเป็นประเทศที่มี เรื่องเหล่านี้คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การค้าเสรี และ ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ในระดับที่สูงขึ้น 

บทสรุป

        วันนี้การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของประเทศต่างๆ ในโลกล้วนแต่อยู่บนพื้นฐานของ ผลประโยชน์แห่งชาติตนเป็นที่ตั้ง แนวคิดต่างๆ ที่ถูกอ้างถึง ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การค้าเสรี และ ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรล้วนแต่เป็นเครื่องมือ ที่ประเทศที่มีกำลังอำนาจของชาติมากกว่าประเทศอื่น ใช้เป็นประตูที่ก้าวเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศที่ด้อยกว่า และมีผลประโยชน์อย่างเพียงพอ ลิเบีย ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการถูกแทรกแซงโดยประเทศที่มีกำลังอำนาจของชาติสูงกว่า
        เมื่อหันมามองประเทศไทยแล้วคงจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราจะ Reform not Revolution ได้หรือไม่ เพราะหากเราไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงแล้ว เราจะต้องเผชิญกับการเข้ามาแทรกแซงจากประเทศที่มีกำลังอำนาจของชาติที่สูงกว่า จริงอยู่ที่ประเทศไทยไม่ได้มีน้ำมันอย่างประเทศในตะวันออกกลาง แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิรัฐศาสตร์ดี มีความเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ วันนี้เราหันมามองเรื่องเหล่านี้กันบางไหม หรือเรามองแต่ว่าทำยังไงจะได้รับการเลือกตั้ง หรือทำยังไงจะได้รักษาผลประโยชน์ต่างๆ ที่ของตนไว้ได้โดยไม่คำนึงถึงว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร 

เบื้องหลังการเยือนกรุงสยาม ของมกุฎราชกุมารรัสเซีย มิติการเมืองใหม่สมัย ร.5





เรือพระที่นั่ง "ปัมยัตอาโซวา" และขบวนเรือติด ตามอีก 2 ลำ ได้นำ "ซาเรวิตซ์" มาสู่กรุงเทพฯ

"ซาเรวิตซ์" เป็นภาษารัสเซีย แปลว่า องค์มกุฎราชกุมาร ซึ่งสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ก็คือ "มกุฎราชกุมารนิโคลาส" ที่ต่อมาจะได้ขึ้นเสวยราชย์เป็น "พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2" กษัตริย์องค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัสเซียก่อนที่จะถูก ปฏิวัติครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ.1917 โดย "เลนิน-สตาลิน"

นี่เป็นการเดินทางครั้งสำคัญที่ต้องถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของสยาม(ไทย) และประวัติศาสตร์ของโลก

ด้วยเหตุผลหลักในการเสด็จที่สำคัญของพระองค์ที่เปิดเผย คือ 1.เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์จุดต้นทางเพื่อเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟสาย ทรานส์ ไซบีเรีย ณ เมืองวลาดีวอสตอค ในรัสเซียตะวันออก ซึ่งเป็นการเปิดทางให้รัสเซียเข้าไปขยายอิทธิพลในจีน 2.เพื่อศึกษาดูงานระบอบการปกครองในประเทศต่างๆ อันเป็นการสร้างสมบารมีและเสริมอิทธิพลทางการเมืองทางอ้อมให้รัสเซีย

แต่ที่ไม่เป็นที่เปิดเผยคือ เป็นการแยกกันอยู่ของซาเรวิตซ์กับแฟนสาวนักเต้นบัลเล่ต์ ชื่อ เคชชินสกา ผู้ที่พระชนก (พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ค.ศ. 1881-1894) คอยกีดกันมิให้ทั้งสองคบหากัน

ขบวนเสด็จเริ่มออกเดินทางในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1890 โดยขบวนรถไฟหลวงจากนครเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ล่องใต้สู่กรุงเวียนนาจนถึงเมืองตรีเอสเต จากที่นี่ ทรงเดินทางต่อโดยเรือพระที่นั่งชื่อ ปัมยัต อาโซวา เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาองค์รอง คือ เจ้าชายจอร์ช นอกจากนั้นเป็นเจ้านายและทหารจำนวนหนึ่ง ครอบคลุมระยะทางมากกว่า 51,000 กิโลเมตร และทางทะเลรวม 22,000 กิโลเมตร อันเป็นเส้นทางที่ยังไม่เคยมีเจ้านายชั้นสูงของยุโรปเคยกระทำมาก่อน ที่กรุงกรีก เจ้าชายจอร์จแห่งกรีก พระประยูรญาติอีกองค์หนึ่งของซาราวิตซ์เข้ามาสมทบด้วย จากกรีก ขบวนเสด็จเดินทางสู่อียิปต์ ตัดเข้าเอเชียทางคลองสุเอซ บ่ายหน้าสู่อินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ สยาม เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น ทุกหนแห่งที่ซาเรวิตซ์เสด็จไป ทรงได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร 



(ภาพบน) (ซ้าย)-ภาพวิมานในอากาศกรุงสยามเมืองแห่งความฝันตามทรรศนะของชาวรัสเซีย (ขวา)-รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสรัสเซีย พระเจ้าซาร์โปรดให้ถ่ายรูปนี้เป็นที่ระลึก แล้วทรงส่งไปลงหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส พวกฝรั่งเศสตกใจว่า ร.5 ทรงรู้จักมักจี่กับพระเจ้าซาร์เมื่อไหร่ กลายเป็นเรื่องฮือฮาในสมัยนั้น (ภาพล่าง) สถานที่สำคัญต่างๆ ในสยาม วาดโดยนายกริทเซนโก้ จิตรกรเอก
โดยเฉพาะในประเทศสยาม (ระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม ค.ศ.1891) ซึ่งตรงกับสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ซึ่ง ไกรฤกษ์ นานา ผู้เขียนหนังสือ เบื้องหลังการเยือนกรุงสยาม ของมกุฎราชกุมารรัสเซีย มิติการเมืองใหม่สมัย รัชกาลที่ 5 ได้วิเคราะห์การเดินทางครั้งสำคัญของ มกุฎราชกุมารนิโคลาส ไว้ว่า...

"การต้อนรับซาเรวิตซ์ในสยามประเทศ เป็นอีกฉากหนึ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของ ทฤษฎีรู้เขารู้เรา ได้อย่างวิเศษ สยามเป็น ประเทศกันชน หรือ ดินแดนกันกระทบ ระหว่างมหาอำนาจยุโรปที่เป็นคู่แข่งดั้งเดิมของรัสเซีย คือ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส อังกฤษนั้นเป็นคู่แข่งโดยตรง แต่ฝรั่งเศสนั้นเป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งทางอ้อมของรัสเซีย การมาของเจ้านายชั้นสูงจากรัสเซีย เป็นที่สนใจของรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างมาก ด้วยทั้งสองประเทศต่างก็ต้องการรู้ว่าสยามจะสนองตอบอย่างไร และรัสเซียจะเห็นใจสยามหรือไม่

"การแนะนำตัวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีความหมายอย่าง ยิ่งต่อการพัฒนา การทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศของสยามเอง ปฏิกิริยาของสยามเรียกว่าตีบทแตก เพราะมิได้แสดงออกจนเกินงาม แต่สามารถเก็บความรู้สึกทั้ง หมดไว้ภายใน แล้วหันมาสร้างความประทับใจกับการต้อนรับขับสู้ด้วยน้ำใสใจจริงจนเกิดคำพูด ติดปากชาวสยามในสมัยนั้น เมื่อมีการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่างเอิกเกริกเพื่อให้เกิดความประทับใจ ว่า ราวกับรับซาเรวิตซ์"

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยาม และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ต่างเผชิญอยู่กับปัญหาการคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตก สำหรับประเทศสยามที่ยังคงรักษาอธิปไตยไว้ได้ ก็อยู่ในวงล้อมของอังกฤษและฝรั่งเศส ดังนั้น การมาของรัสเซียน่าจะเป็นการดี ที่จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของภูมิภาคนี้เปลี่ยนไป ทำให้รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องเธอ กรมหมื่นดำรง ราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) อัญเชิญลายพระราชหัตถเลขาออกไปรับเสด็จซาเรวิตซ์ ซึ่งมีกำหนดที่จะเสด็จจากลังกาถึงสิงคโปร์ในตอนต้นเดือนมีนาคม

แต่ก็มีความพยายามจากมหาอำนาจตะวันตกอื่น ที่ไม่ต้องการให้ซาเรวิตซ์เสด็จมาประเทศสยามได้

มีการปล่อยข่าวเรื่องการระบาดของอหิวาตกโรคในกรุงเทพฯ แต่รัฐบาลประเทศสยามในขณะนั้นก็ได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้แผนการ เสด็จเป็นไปตามกำหนดเดิม ซึ่งในที่สุด ความพยายามของสยามก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อซาเรวิตซ์ทรงเป็นผู้ตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองที่จะเสด็จประพาสประเทศ สยามหลังจากที่ได้ทรงพิจารณาสถานการณ์ทั่วๆ ไปจากหลักฐานที่รัฐบาลสยามกราบทูลถวาย

และหลังจากที่ซาเรวิตซ์เสด็จกลับเพียง 4 เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จรัสเซีย เพื่อเยี่ยมเยือนตอบแทนในการเสด็จมากรุงสยามของซาเรวิตซ์ ซึ่งไกรฤกษ์ได้วิเคราะห์ไว้ว่า "...เป็น "วาระซ่อนเร้น" ของฝ่ายไทย ที่มีนัยยะมากกว่าความเป็นเจ้าของบ้านผู้เอื้อเฟื้อในภาวะปกติ"

นี่เองเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการพลิกโฉมทางการเมืองของประเทศสยามไปสู่ "ทิศทางใหม่" ที่มีรัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเล็งเห็นว่า รัสเซียเป็นประเทศมหา อำนาจหนึ่งของโลก

เพราะเล็งเห็นสถานการณ์ทางยุโรปขณะนั้น ที่ฝรั่งเศสได้กระชับความสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซีย ความโดดเด่นของสถานการณ์ทางยุโรป เป็นแรงขับเคลื่อนให้รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จประพาสยุโรป ในปี ค.ศ.1897 ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะกอบกู้เสถียรภาพของสยามที่สั่นคลอนลงอย่างมากจาก วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (Franco-Siamese War หรือ "สงครามฝรั่งเศส-สยาม" ในปี ค.ศ.1893 ที่ทำให้ไทยต้องเสียพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส) ให้กลับคืนมา ส่งผลให้เกิดการ "เลือกข้าง" และ "เปลี่ยนข้าง" พันธมิตรสยามในเวลาต่อมา

ไกรฤกษ์วิเคราะห์ไว้ว่า "รัฐบาลสยามเชื่อมั่นว่า ด้วยนโยบายทางการทูตและการแทรกแซงของมหา อำนาจชาติที่สาม จะทำให้ฝรั่งเศสมีท่าทีอ่อนลงบ้าง จึงเริ่มมองหาชาติมหาอำนาจชาติที่สามอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรที่ดีกับสยามและความสัมพันธ์อันดีเป็นทุนเดิมอยู่กับ ฝรั่งเศส ซึ่งไม่มีมหาอำนาจใดในเวลานั้นเหมาะสมเท่ารัสเซีย"

และ... "การเข้าแทรกแซงของรัฐบาลรัสเซียในหลายกรณี เป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียดของปัญหาข้อขัดแย้งลงได้มาก โดยเฉพาะสถาน การณ์ตึงเครียดที่กดดันรัฐบาลสยามอย่างรุนแรง แม้ว่าอันที่จริงการแทรกแซงของรัฐบาลรัสเซียจะไม่บรรลุเป้าหมายทั้งหมดได้ อย่างที่รัฐบาลสยามคาดหวังไว้ บทบาทของรัฐบาลรัสเซียในปัญหาดังกล่าวก็เป็นเสมือนหนึ่งแหล่งกลางที่คอยถ่าย ทอดท่าทีที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้คอยยับยั้งท่าทีที่แข็งกร้าวของทั้งสองฝ่ายไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีคุกคามที่รุนแรงขึ้นบางขณะของฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศส"

ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ "เบื้องหลังการเยือนกรุงสยาม ของมกุฎราชกุมารรัสเซีย มิติการเมืองใหม่สมัย ร.5" เป็นหนังสือดีที่น่าศึกษา

บวกกับคะแนนเต็มที่ให้กับ "ไกฤกษ์ นานา" ผู้เขียน ซึ่งได้รวบรวมภาพถ่ายพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 จากต้นฉบับจริง และหนังสือหายากเรื่อง การเดินทางสู่ดินแดนตะวันออกไกลของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย (Voyage En Orient DE S.A.I LE CESAREVITCH) ยิ่งต้องรีบคว้าหนังสือดีเล่มนี้มาครอบครอง

เพราะเหนืออื่นใด อย่างที่ไกรฤกษ์ว่าไว้ "(นี่)เป็นมุมมองของชาวรัสเซีย เป็นแหล่งข้อมูลของคนไทย เป็นข้อมูลเชิงลึกของนักการเมืองรัสเซีย ที่เราไม่อาจพบในข้อเขียนโดยนักเดินทางทั่วไป ล้วนเป็นรายละเอียดที่มีค่ายิ่งต่อสถานการณ์ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพลักษณ์ของสยามประเทศที่ถูกเฝ้ามอง เปรียบเทียบ และวิเคราะห์วิจารณ์โดยเปิดเผยและด้วยความยุติธรรม ในสมัยที่คนไทยยังไม่นิยมบันทึกเรื่องราวของตนเอง"

นี่คือมิติการเมืองใหม่ของสยามประเทศ สมัยรัชกาลที่ 5 ที่คนไทยต้องศึกษา



23-10-2009, 05:01 AM
http://board.palungjit.com

จีน : มหาอำนาจใหม่

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ( วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2545 )  
จีน: มหาอำนาจใหม่

ศ.ดร.ลิขิต  ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต

                 จีน เป็นประเทศเก่าแก่  มีประวัติศาสตร์มาสี่พันปี  มีวัฒนธรรมและอารยธรรมที่ทรงอิทธิพลไปทั่วโลก  แม้ราชวังบางแห่งในยุโรปก็มีการสร้างเลียนแบบจีน  ที่สำคัญยุคหนึ่งในยุโรปได้มีการพูดถึงจีนในฐานะที่เป็นประเทศที่มีระบบการ ปกครองบริหารและอารยธรรมที่สูงส่ง  เช่น  ระบบการสอบเข้ารับราชการเป็นขุนนาง  เครื่องลายครามซึ่งเป็นศิลปะและเทคโนโลยีขั้นสูง  ในยุคที่มาโคโปโลเดินทางไปประเทศจีนนั้นเป็นยุคที่ยุโรปยังล้าหลังกว่า จีนอยู่มาก  


                    แต่ความเจริญรุ่งเรืองของจีนก็มีส่วนทำให้จีนเป็นประเทศ ที่ไม่สามารถจะปรับทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปซึ่งมีผลมาจากการฟื้นฟู ศิลปะวิทยาภายหลังที่อำนาจของพระในศาสนาคริสต์ได้ลดน้อยลง  จึงทำให้เปิดทางไปสู่การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์  ความอิสระในการแสดงความคิดเห็น  และการคิดค้นจนนำไปสู่การพบเครื่องทุ่นแรงที่สำคัญคือเครื่องจักรไอน้ำ  และต่อมาก็มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมใช้เครื่องจักรแทนคน  และหลังจากการค้นพบน้ำมันและไฟฟ้าก็เกิดเครื่องจักรกลที่มีประสิทธิภาพอย่าง มากในการผลิต  รวมตลอดทั้งในการนำไปสร้างพาหนะด้วยการเดินทางเริ่มตั้งแต่รถไฟ  เรือกลไฟ  รถยนต์  เครื่องบิน  พร้อมๆ กับปืนไฟหรืออาวุธอันร้ายแรง  ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการทำสงครามชนะศัตรู  


                     แต่นอกเหนือจากการค้นพบทาง วิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายดังกล่าวมาแล้ว  ความสามารถในการปกครองบริหารและการจัดการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งระเบียบสังคม  การผลิต  ระบบเศรษฐกิจ  ธุรกิจ  การค้า  การเมืองในรูปแบบการต่อรอง  หลังจากการทำสัญญากฎบัตรใหญ่ หรือแมกนาคาตา  ก็นำไปสู่การเปิดกว้างของการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยเริ่มที่ประเทศอังกฤษ  และต่อไปก็ขยายไปในที่อื่นๆ จนมาเป็นรูปแบบที่จำลองใกล้เคียงกันในสหรัฐอเมริกา  ขณะเดียวกันความจำเริญในทางการผลิตและระบบทุนนิยมก็นำไปสู่การค้นหา ทรัพยากร  แรงงานและตลาด  เพื่อการผ่องถ่ายสินค้าซึ่งนำไปสู่ลัทธิล่าอาณานิคม  โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ  การแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ทางการค้า  นอกเหนือไปจากการเผยแผ่ศาสนาของกลุ่มที่มีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า 
                    

                     จีน ไม่สามารถจะตามทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเนื่องจากมีความเชื่อมั่นสูงใน วัฒนธรรมและอารยธรรมของตนเอง  ที่สำคัญก็คือ  ระบบการปกครองที่มีเหล่าขุนนางและขันทีในวังได้รับประโยชน์ก็พยายามต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงและไม่ยอมรับความคิดระบบวัฒนธรรมและอารยธรรมของฝรั่งผิวขาว  ซึ่งจีนเรียกว่า ผีผมแดง  ในส่วนนี้จีนมีความแตกต่างจากญี่ปุ่นเพราะญี่ปุ่นมีความรวดเร็วในการปรับตัว เริ่มตั้งแต่สมัยฟื้นฟูเมจิ  มีการหันจากเอเชียซึ่งได้แก่จีนและอินเดียไปสู่ยุโรป  จนญี่ปุ่นได้ก้าวเข้ามาสู่การเป็นมหาอำนาจเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจ ตะวันตก  โดยในปี ค.ศ.1902 ญี่ปุ่นได้รับเกียรติทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ  และในปี ค.ศ.1905 ญี่ปุ่นทำสงครามกับรัสเซียและได้รับชัยชนะ  ก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นก็สามารถทำสงครามชนะจีนได้ในปี ค.ศ.1894-1895  ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้บ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่สามารถของจีนที่จะปรับ ตัวให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง  เนื่องจากความเชื่อมั่นในตนเองสูงโดยมองดูอารยธรรมของฝรั่งในลักษณะของคน เถื่อน  ไร้วัฒนธรรม  นาฬิกาที่เดินด้วยจักรกลก็มองดูเป็นของเด็กเล่น  กว่าจีนจะรู้ตัวก็กลายเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตก  มีเขตเช่าต่างๆ ในเมืองใหญ่โดยมีมหาอำนาจตะวันตก 7 ประเทศ รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 8 ที่เข้ามายึดครองบางส่วนของจีน

                        เมื่อ เหมา เจ๋อตุง ยึดแผ่นดินใหญ่ได้ในปี ค.ศ.1949 ก็ได้ประกาศที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ว่าจีนจะไม่ถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีอีกต่อไป  การถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีโดยมหาอำนาจตะวันตกเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1839-1842  เมื่อตอนที่จีนแพ้สงครามฝิ่นจนต้องเสียเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษ  นอกเหนือจากค่าเสียหายอย่างอื่น  ซึ่งเมื่อนับถึงปีที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนยึดแผ่นดินใหญ่ได้ก็เป็น ระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ  จนมีการกล่าวว่าเป็นศตวรรษแห่งการเสื่อมเสียศักดิ์ศรีของประเทศที่มี อารยธรรมมาถึงกว่าสี่พันปี   การประกาศของเหมา เจ๋อตุง เป็นการบ่งชี้ถึงความข่มขื่นของประสบการณ์อันเลวร้ายของประชาชนชาวจีน  แต่จีนก็ไม่ได้มีความสงบในทางการเมืองเพราะมีภารกิจที่ต้องมีการจัดบ้านให้ เข้าที่  จัดของให้เข้าทาง  มีการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมืองในสองระดับ ทั้งระดับความขัดแย้งทางอุดมการณ์และการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกันระหว่าง สองกลุ่ม  จนผลสุดท้ายก็จบลงด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งทอดช่วงเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ  จนกระทั่งการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อตุง และการสิ้นสุดอำนาจต่อมาของนางเจียงจิงและสหายอีกสามคน  จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยกลุ่มของนายเติ้ง เสี่ยวผิง  ซึ่งมีหลักการว่า  หลังจากการยึดอำนาจแล้วก็ควรถึงการพัฒนา  ได้มีการประกาศนโยบายเปิดประตูประเทศพร้อมกับสี่ทันสมัย  อันได้แก่  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  อุตสาหกรรม  เกษตร  และการป้องกันประเทศ  ซึ่งหลายคนสังเกตว่ามีลักษณะคล้ายกับการฟื้นฟูเมจิของญี่ปุ่นซึ่งเริ่มในปี ค.ศ.1868  แต่จีนมาเริ่มกว่าสองศตวรรษต่อมา  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  จีนเริ่มต้นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของโลกช้ากว่าญี่ปุ่นกว่า สองศตวรรษ  ได้มีการส่งนักศึกษาจีนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ  มีการเปิดประตูเพื่อการลงทุนจากต่างประเทศ  ปรับปรุงกฎหมายกระบวนการบริหาร  เลิกนารวม  เปิดให้มีการทำธุรกิจส่วนตัวในระดับหนึ่ง  กล่าวอีกนัยหนึ่ง  จีนพยายามผสมผสานระหว่างการปกครองแบบสังคมนิยมและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  และต่อมาก็เริ่มมีการเลือกตั้งในหมู่บ้านแบบอิสระ


                        การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนก็คือ  จีนพัฒนาอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสองทศวรรษ   การผลิตทางเกษตรและอุตสาหกรรมเจริญรุดหน้า  เมืองใหญ่ๆ เช่น เมืองเซี้ยงไฮ้ ปักกิ่ง และจุงกิง  จะกลายเป็นศูนย์กลางการเศรษฐกิจและการบริหารของจีน  การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว  เกิดชนชั้นใหม่ซึ่งได้แก่ชนชั้นกลางที่มีรายได้อยู่ในระดับถึง 200 ล้านคน  อุตสาหกรรมบางส่วนได้ส่งไปขายต่างประเทศเนื่องจากราคาถูก  ที่สำคัญก็คือ  จีนได้เข้า WTO  และจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกหลังจากที่ได้จัดเอเชียนเกมส์อย่างสัมฤทธิ์ ผลมาแล้ว  ที่สำคัญที่สุด  กระบวนการทางการเมืองของจีนได้ปลอดจากการช่วงชิงอำนาจกันอย่างดุเดือดและ รุนแรง  การสืบทอดอำนาจกระทำในกลไกของสถาบัน  ผู้นำชั้นใหม่ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่กำลังรับภาระต่อจากผู้นำรุ่นเดิมซึ่งมีความ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศจีนไปสู่การเป็นมหาอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ


                     จีน มีประชากร 1,300 ล้านคน จีนจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจของหลายประเทศ  เฉพาะโทรศัพท์มือถือมีผู้ใช้ถึง 120 ล้านเลขหมาย  ขณะที่โทรศัพท์พ้นฐานหรือโทรศัพท์บ้านมี 170 ล้านเลขหมาย  และจะขยายตัวไปอย่างไม่หยุดยั้ง  ตลาดจีนมีทั้งตลาดบนและตลาดล่าง  ในกรณีตลาดบนคนซึ่งมีรายได้พอที่จะจับจ่ายได้อย่างฟุ่มเฟือยก็มีจำนวนเป็น สิบๆ ล้านคน  เนื่องจากการสะพัดของเงินตราและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  ในขณะที่ตลาดล่างซึ่งได้แก่ รถจักรยานยนต์  โทรทัศน์สี  วิทยุ  เครื่องเสียง  ตู้เย็น  จักรยาน  รถยนต์  เสื้อผ้า  เป็นตลาดใหญ่มหึมามีการผลิตเป็นจำนวนมาก  จนทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ  เช่น  เสื้อนอกชุดละ 350 บาท  หรือที่สามารถจะใส่ไปทำงานอย่างสบายใจชุดละ 700 บาท  เป็นต้น


                         เนื่อง จากความสำคัญดังกล่าวในหลายๆ ด้าน  ได้มีความตื่นตัวที่จะศึกษาเรื่องจีนมากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนภาษาจีน  ที่เห็นได้ชัดคือประเทศไทยได้มีสถาบันสอนภาษาจีนเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น  ประเทศมาเลเซียซึ่งเดิมห้ามไม่ให้เรียนภาษาจีนเนื่องจากกลัวความสัมพันธ์อัน ตึงเครียดระหว่างคนมาเลย์และคนเชื้อสายจีนได้เริ่มเปลี่ยนแนวคิดและส่งเสริม การเรียนอย่างเต็มที่  จึงไม่แปลกถ้าหากว่าภาษาจีนจะกลายเป็นภาษาที่สำคัญรองจากภาษาอังกฤษ  และมีข้อที่สังเกตได้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าของจีน  ดังนั้นภายใน 10 ปีนี้จะมีคนอเมริกันศึกษาภาษาจีนอย่างมากมาย  ขณะเดียวกันก็จะมีคนจีนจำนวนมากศึกษาภาษาอังกฤษจนสามารถใช้งานได้เป็นอย่าง ดีเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน


                        จีนเป็นมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ  ทางการเมืองระหว่างประเทศ  และในอนาคตจะเป็นมหาอำนาจทางทหาร  แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ก็คือ  สังคมจีนนั้นเดิมมีความดื่มด่ำในลัทธิขงจื้อแต่ได้คลายความเข้มข้นลงเมื่อมี ลัทธิสังคมนิยมเข้ามาแทนที่  และในขณะนี้ความเข้มข้นของสังคมนิยมก็ลดลง  สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่ในอนาคตน่าจะเป็นความรู้สึกชาตินิยมซึ่งก็เป็นเรื่อง ที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากจำนวนประชากรและขนาดอันใหญ่โตของจีน  ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ถ้าทั้งสองมหาอำนาจมีความขัดแย้งกัน  ก็จะส่งผลในทางลบต่อความสงบของโลกและภูมิภาค  แต่ถ้าทั้งสองมหาอำนาจร่วมมือกันอย่างดีก็ไม่แน่ว่าจะมีผลดีต่อประเทศเล็กๆ 


                  ดัง นั้น  จีนจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญในหลายๆ ด้านที่ประเทศต่างๆ ก็คำนึงถึง  ขณะเดียวกันจีนก็อยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำในมิติต่างๆ ได้  ทั้งในแง่เศรษฐกิจ  การเมืองระหว่างประเทศ  และทางทหาร  การเป็นมหาอำนาจของจีนจึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด

ความจริงเรื่องเขตแดน "เขมร-ไทย"

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ http://bt.io/GyAg
วันที่ 16 มกราคม 2554 07:33


สัมภาษณ์พิเศษ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ กรณี 7 คนไทยถูกทหารเขมรจับกุมบริเวณพรมแดนด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และถูกส่งตัวขึ้นศาลกัมพูชา

กรณี 7 คนไทยถูกทหารเขมรจับกุมบริเวณพรมแดนด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และถูกส่งตัวขึ้นศาลเพื่อดำเนินคดีในข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยทุจริตนั้น แม้ด้านหนึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์การเมืองระหว่างไทยกับกัมพูชา และบรรยากาศการเมืองภายในประเทศไทยร้อนระอุขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงก็ตาม
 
ทว่าอีกด้านหนึ่งกรณีนี้ก็ก่อคุณูปการไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการทำให้คนไทยได้ตื่นตัวกับปัญหา "เส้นเขตแดน" รอบประเทศ ซึ่งเป็นเสมือนขยะที่ซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน
เสียงตำหนิวิจารณ์ถึงความหย่อนยานของหน่วยงานที่รับผิดชอบดังกระหึ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่อยู่ตามแนวชายแดนเอง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติงานอยู่ตามจุดที่เป็นปัญหาต่างๆ และไม่ใช่แค่ชายแดนด้านเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เท่านั้น แต่เรียกว่ามีปัญหาแทบทุกด้าน ตั้งแต่ฐานกู่เต็งนาโย่ง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยันบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กันเลยทีเดียว

แน่นอนว่าทุกปัญหาย่อมมีที่มาและเหตุปัจจัย "กรุงเทพธุรกิจ" จับเข่าคุยกับ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และประธานคลังสมองวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (คลังสมอง วปอ.) เพื่อขุดค้นต้นตอของปัญหา และสำรวจทางออกเล็กๆ ที่ยังพอมี

พล.อ.จรัล ไล่เรียงปัญหาตามลำดับความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้ คือ

1. ประเทศไทยกับกัมพูชามีพรมแดนติดต่อกันระยะทาง 798 กิโลเมตร และปักปันหลักเขตร่วมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 มีหลักเขตแดนทั้งหมด 73 หลัก หลักแรกอยู่ที่ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ หลักที่ 73 อยู่ที่บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

2. หลักเขตแดนทั้งหมดดำเนินการโดยประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชาอยู่ในสมัยนั้น ทำให้ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะภูมิปัญญาไทยเมื่อร้อยปีที่แล้วยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องการทำแผนที่และปักหลักเขต ซึ่งที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้โทษหรือกล่าวหาบรรพบุรุษ แต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้น และไม่ว่าใคร ถ้าอยู่ในสมัยนั้นก็คงทำได้ดีที่สุดเท่านี้

"ยกตัวอย่างหลักเขตที่ 72 กับ 73 ในท้องที่ จ.ตราด ซึ่งลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหลายยอด ฝรั่งเศสชี้แนวเขตตรงยอดเขาที่ไม่ใช่ยอดสูงที่สุด และอยู่ลึกเข้ามาทางฝั่งไทย เราก็เอาตามนั้น จะว่าเราโง่ก็ไม่ใช่ แต่เพราะเราไม่รู้ ต่อมาเมื่อเรามีองค์ความรู้ และไปสำรวจในภายหลังก็ได้แต่งงว่าทำไมเขตแดนเป็นสันปันน้ำของภูเขาลูกที่เตี้ยกว่า และอยู่ลึกเข้ามาทางฝั่งไทย"

3. ในยุคล่าอาณานิคม เจ้าอาณานิคมของประเทศรอบบ้านไทยต่างพากันกดดันไทยเพื่อฮุบดินแดนและทรัพยากร ทำให้มีความพยายามเอาเปรียบเรื่องเขตแดน สังเกตว่าแนวชายแดนไทย-เขมร ฝรั่งเศสให้ยึดสันปันน้ำและร่องน้ำลึก แต่ทางฝั่งไทย-ลาวกลับให้ยึดขอบตลิ่งของแม่น้ำโขง คือขอบตลิ่งฝั่งไทยเป็นเส้นเขตแดน ไม่ได้ยึดร่องน้ำลึก

4. หลักเขตที่ปักกันสมัยก่อน แต่ละหลักห่างกันหลายกิโลเมตร และเป็นเสาไม้ ความไม่แน่นอนจึงเกิดขึ้น

5. ในยุคที่มีภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ และมีการสู้รบกันในกัมพูชา เขมรแดงแตกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายเฮงสัมรินกับฮุนเซน ฝ่ายพลพต และฝ่ายเขียว สัมพันธ์ เขมรเฮงสัมรินมีกองทหารเวียดนามสนับสนุน ได้รุกตีเข้ามา ทำให้เขมรแดงอีก 2 กลุ่มร่นถอยมาตามแนวชายแดนไทย และมีการย้ายหลักเขตเข้าไปทางฝั่งกัมพูชา เพื่อให้ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายตนเองเข้าไปอาศัยอยู่ จะได้ปลอดภัย เพราะเท่ากับเข้าไปอยู่ในเขตไทย แต่จริงๆ เป็นเขตเขมร

ต่อมาไทยไปร้องเรียนองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาว่าถูกรุกเข้ามาประชิดชายแดน ยูเอ็นจึงส่งกำลังเข้ามาดูแลผู้อพยพ ตอนนั้นเส้นเขตแดนไม่รู้อยู่ตรงไหนแน่นอน และเขมรแดงกลุ่มอื่นๆ ก็อยากได้รับความช่วยเหลือด้วย จึงยอมให้มีการตั้งแคมป์ช่วยเหลือผู้อพยพตามแนวพรมแดนทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา

6. หลังจากแก้ไขปัญหาเขมรอพยพได้แล้ว นักธุรกิจและนายทุนเล็งเห็นผลประโยชน์ว่าแนวชายแดนไทย-กัมพูชามีป่าไม้เยอะ จึงลักลอบย้ายหลักเขตบางหลักให้ลึกเข้ามาในเขตไทย เพื่อให้ป่าไม้ตรงนั้นกลายเป็นป่าของเขมร จะได้ตัดไม้สะดวก เมื่อป่าหมดก็ไม่ได้ย้ายหลักเขตกลับ

"จากประวัติศาสตร์หลายๆ ช่วงจะเห็นได้ว่าหลักเขตถูกเคลื่อนย้ายไปมา ไม่มีความแน่นอน กองกำลังของแต่ละฝ่ายที่ดูแลชายแดนจึงต้องตกลงกันว่าจะใช้จุดไหนเป็นเส้นแบ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเส้นเขตแดนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเส้นแบ่งที่ว่านี้ระดับกองกำลังที่ดูแลพื้นที่ต่างยอมรับซึ่งกันและกัน อย่างเช่นบริเวณชายแดนด้าน อ.อรัญประเทศ ตชด.ไทยกับทหารเขมรก็ยอมรับข้อตกลงซึ่งกันและกัน แต่พอเกิดปัญหา 7 คนไทยขึ้นมา มันกลายเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งพูดกันด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรีของประเทศ จึงคุยกันไม่รู้เรื่อง" พล.อ.จรัล สรุป

เมื่อถามถึงกรณี 7 คนไทย อดีตเลขาธิการ สมช. กล่าวว่า นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ เคยเข้าไปตรงจุดที่เกิดปัญหาแล้วถึง 2 ครั้ง และถูกจับทั้ง 2 ครั้ง แต่ ตชด.ไทยไปช่วยออกมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ก็เข้าไปอีกเป็นครั้งที่ 3 แล้วก็ถูกจับ

"ผมไม่ทราบว่าเข้าไป 2 ครั้งถูกจับทั้ง 2 ครั้ง แล้วทำไมถึงไม่เข็ด ยังเข้าไปครั้งที่ 3 อีก แล้วก็ไม่ยอมบอก ตชด.ก่อน ถ้าบอก ตชด.และมี ตชด.ไปด้วย ทหารเขมรก็จะเกรงใจ ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของการเข้าไปผมไม่รู้ แต่รู้สึกประหลาดมากว่ามีเจตนาอะไรกันแน่ พอเกิดเรื่องแล้วก็มาร้องแรกแหกกระเชอให้ระดับรัฐบาลยืนยันให้ได้ว่าเป็นเขตไทย ซึ่งจริงๆ แล้วใครก็พูดไม่ได้ ผมก็ชี้ไม่ได้ว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน ต้องให้ฝ่ายเทคนิคอย่างกรมแผนที่ทหารเป็นผู้ชี้"

"สิ่งที่เป็นความผิดพลาดของไทย ก็คือ ผู้รู้เยอะ แต่รู้จริงๆ แค่นิดเดียว ทว่าพูดเยอะมาก คุณกษิต (นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ) บอกวันแรกๆ ว่า 7 คนไทยล้ำแดนเข้าไป 500 เมตร ต่อมา รมว.กลาโหม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ก็พูดว่าจุดที่จับ 7 คนไทยเป็นดินแดนเขมร ผมถามว่ารู้ได้อย่างไร เส้นเขตแดนอยู่ตรงไหนคุณรู้หรือ ถ้าฉลาดต้องตอบว่าเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคต้องพิสูจน์ แต่พอพูดอย่างนี้เขาเรียกว่ารู้น้อยแต่มากรู้ ผมยังชื่นชม นายกฯ อภิสิทธิ์ ที่บอกให้ทุกฝ่ายหยุด แล้วให้กระทรวงการต่างประเทศพูดเพียงหน่วยเดียว"

กระนั้นก็ตาม ในฐานะที่ทำงานด้านความมั่นคงมาตลอดชีวิตราชการ พล.อ.จรัล ยืนยันว่า คำพูดของ รมว.ต่างประเทศ หรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในรัฐบาล แม้จะมีน้ำหนัก แต่ไม่ใช่การพิสูจน์ทราบเส้นเขตแดน ฉะนั้นจะมีผลเฉพาะเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนเส้นเขตแดน

เมื่อถามถึงทางออกของเรื่องนี้ พล.อ.จรัล บอกว่า มีเพียงอย่างเดียวคือระดับรัฐบาลต้องเปิดการพูดคุยเจรจากันให้ได้ จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคไปดำเนินการต่อ ซึ่งก็คือคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วม หรือ เจบีซี ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระดับต่างๆ ขึ้นมาจนถึงระดับท้องถิ่นที่มีชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมอยู่ด้วย ฉะนั้นรัฐบาลคงต้องค่อยๆ หาทางเพื่อให้เกิดกระบวนการเหล่านั้น และเดินหน้าต่อไป

คำถามที่ถามกันมากก็คือ เหตุใด สมเด็จฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา จึงมีท่าทีแข็งกร้าวกับไทยมากขนาดนี้ พล.อ.จรัล วิเคราะห์ว่า เป็นเรื่องการเมืองภายในของกัมพูชาเอง เนื่องจากสมเด็จฮุนเซนถูกกล่าวหาเรื่องการให้สัมปทานระยะยาวในที่ดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนหลายร้อยตารางกิโลเมตรกับประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่สมัยเขมรยังแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ซึ่งกรณีนี้ทำให้สมเด็จฮุนเซนถูกโจมตีจากฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองมาตลอด จึงต้องแก้เกมด้วยการหันมาเล่นงานไทย

"อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าวิเคราะห์ ก็คือ สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการไปตกลงอะไรลึกๆ กับฮุนเซนไว้หรือไม่ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นอีกขั้วหนึ่ง ผู้นำกัมพูชาถึงไม่พอใจ โดยเฉพาะพื้นที่ไหล่ทวีปที่ประกาศทับซ้อนกันอยู่"

อดีตเลขาธิการ สมช. ยังให้ข้อมูลว่า ปัญหาเส้นเขตแดนยังมีเรื่องที่น่ากังวลอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะหลักเขตที่ 73 บริเวณที่เรียกว่าแหลมสารพัดพิษ ที่บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด (ตรงข้ามจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา) มีนายทุนเข้าไปไถภูเขาบริเวณนั้นเพื่อทำที่จอดรถสำหรับคนที่จะข้ามไปเล่นการพนันในฝั่งเขมร ทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลง แนวสันเขาที่เป็นสันปันน้ำก็เปลี่ยนไปด้วย ตรงนี้จะโยงไปถึงเกาะกูด ซึ่งไทยอาจเสียเปรียบได้ในอนาคต เนื่องจากเกาะกูดอ้างอิงจากเส้นเขตแดนจากหลักเขตนี้ รวมถึงไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกันด้วย

"ความย่อหย่อนของเราคือนายอำเภอเพิกเฉย ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ทำอะไรเลย" พล.อ.จรัล กล่าว

ในฐานะอดีตเลขาธิการ สมช. เขาแนะว่า การจะแก้ไขปัญหาเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยต้องมองบริบทการเมืองโลกด้วย ซึ่งมีความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่ไทยต้องสังเกตและถ่วงดุลให้ดี

"ในโลกนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าผลประโยชน์ พูดตรงๆ กัมพูชานั้นใครๆ ก็อยากเข้าไปลงทุน เพราะมีทรัพยากรมาก อเมริกาก็ด้วย จีนก็เช่นกัน ขณะที่สหรัฐกับจีนกำลังขัดแย้งกันอยู่ ไทยจึงต้องสร้างดุลยภาพของตัวเองให้ดี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือพลังอำนาจของไทยถูกลิดรอนจากปัญหาขัดแย้งภายใน ถ้ารวมพลังกันสามัคคีกันก็จะสู้ได้ เหมือนยุคสมัย จอมพล ป. ที่เคยเอาชนะฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนมาแล้ว" พล.อ.จรัล กล่าว

ถึงที่สุดก็หลีกไม่พ้นปัญหาที่เป็นดั่งสนิมเกิดแต่เนื้อในตน!