My pix

My pix

วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

เบื้องหลังการเยือนกรุงสยาม ของมกุฎราชกุมารรัสเซีย มิติการเมืองใหม่สมัย ร.5





เรือพระที่นั่ง "ปัมยัตอาโซวา" และขบวนเรือติด ตามอีก 2 ลำ ได้นำ "ซาเรวิตซ์" มาสู่กรุงเทพฯ

"ซาเรวิตซ์" เป็นภาษารัสเซีย แปลว่า องค์มกุฎราชกุมาร ซึ่งสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ก็คือ "มกุฎราชกุมารนิโคลาส" ที่ต่อมาจะได้ขึ้นเสวยราชย์เป็น "พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2" กษัตริย์องค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัสเซียก่อนที่จะถูก ปฏิวัติครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ.1917 โดย "เลนิน-สตาลิน"

นี่เป็นการเดินทางครั้งสำคัญที่ต้องถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของสยาม(ไทย) และประวัติศาสตร์ของโลก

ด้วยเหตุผลหลักในการเสด็จที่สำคัญของพระองค์ที่เปิดเผย คือ 1.เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์จุดต้นทางเพื่อเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟสาย ทรานส์ ไซบีเรีย ณ เมืองวลาดีวอสตอค ในรัสเซียตะวันออก ซึ่งเป็นการเปิดทางให้รัสเซียเข้าไปขยายอิทธิพลในจีน 2.เพื่อศึกษาดูงานระบอบการปกครองในประเทศต่างๆ อันเป็นการสร้างสมบารมีและเสริมอิทธิพลทางการเมืองทางอ้อมให้รัสเซีย

แต่ที่ไม่เป็นที่เปิดเผยคือ เป็นการแยกกันอยู่ของซาเรวิตซ์กับแฟนสาวนักเต้นบัลเล่ต์ ชื่อ เคชชินสกา ผู้ที่พระชนก (พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ค.ศ. 1881-1894) คอยกีดกันมิให้ทั้งสองคบหากัน

ขบวนเสด็จเริ่มออกเดินทางในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1890 โดยขบวนรถไฟหลวงจากนครเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ล่องใต้สู่กรุงเวียนนาจนถึงเมืองตรีเอสเต จากที่นี่ ทรงเดินทางต่อโดยเรือพระที่นั่งชื่อ ปัมยัต อาโซวา เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาองค์รอง คือ เจ้าชายจอร์ช นอกจากนั้นเป็นเจ้านายและทหารจำนวนหนึ่ง ครอบคลุมระยะทางมากกว่า 51,000 กิโลเมตร และทางทะเลรวม 22,000 กิโลเมตร อันเป็นเส้นทางที่ยังไม่เคยมีเจ้านายชั้นสูงของยุโรปเคยกระทำมาก่อน ที่กรุงกรีก เจ้าชายจอร์จแห่งกรีก พระประยูรญาติอีกองค์หนึ่งของซาราวิตซ์เข้ามาสมทบด้วย จากกรีก ขบวนเสด็จเดินทางสู่อียิปต์ ตัดเข้าเอเชียทางคลองสุเอซ บ่ายหน้าสู่อินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ สยาม เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น ทุกหนแห่งที่ซาเรวิตซ์เสด็จไป ทรงได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร 



(ภาพบน) (ซ้าย)-ภาพวิมานในอากาศกรุงสยามเมืองแห่งความฝันตามทรรศนะของชาวรัสเซีย (ขวา)-รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสรัสเซีย พระเจ้าซาร์โปรดให้ถ่ายรูปนี้เป็นที่ระลึก แล้วทรงส่งไปลงหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส พวกฝรั่งเศสตกใจว่า ร.5 ทรงรู้จักมักจี่กับพระเจ้าซาร์เมื่อไหร่ กลายเป็นเรื่องฮือฮาในสมัยนั้น (ภาพล่าง) สถานที่สำคัญต่างๆ ในสยาม วาดโดยนายกริทเซนโก้ จิตรกรเอก
โดยเฉพาะในประเทศสยาม (ระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม ค.ศ.1891) ซึ่งตรงกับสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ซึ่ง ไกรฤกษ์ นานา ผู้เขียนหนังสือ เบื้องหลังการเยือนกรุงสยาม ของมกุฎราชกุมารรัสเซีย มิติการเมืองใหม่สมัย รัชกาลที่ 5 ได้วิเคราะห์การเดินทางครั้งสำคัญของ มกุฎราชกุมารนิโคลาส ไว้ว่า...

"การต้อนรับซาเรวิตซ์ในสยามประเทศ เป็นอีกฉากหนึ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของ ทฤษฎีรู้เขารู้เรา ได้อย่างวิเศษ สยามเป็น ประเทศกันชน หรือ ดินแดนกันกระทบ ระหว่างมหาอำนาจยุโรปที่เป็นคู่แข่งดั้งเดิมของรัสเซีย คือ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส อังกฤษนั้นเป็นคู่แข่งโดยตรง แต่ฝรั่งเศสนั้นเป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งทางอ้อมของรัสเซีย การมาของเจ้านายชั้นสูงจากรัสเซีย เป็นที่สนใจของรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างมาก ด้วยทั้งสองประเทศต่างก็ต้องการรู้ว่าสยามจะสนองตอบอย่างไร และรัสเซียจะเห็นใจสยามหรือไม่

"การแนะนำตัวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีความหมายอย่าง ยิ่งต่อการพัฒนา การทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศของสยามเอง ปฏิกิริยาของสยามเรียกว่าตีบทแตก เพราะมิได้แสดงออกจนเกินงาม แต่สามารถเก็บความรู้สึกทั้ง หมดไว้ภายใน แล้วหันมาสร้างความประทับใจกับการต้อนรับขับสู้ด้วยน้ำใสใจจริงจนเกิดคำพูด ติดปากชาวสยามในสมัยนั้น เมื่อมีการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่างเอิกเกริกเพื่อให้เกิดความประทับใจ ว่า ราวกับรับซาเรวิตซ์"

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยาม และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ต่างเผชิญอยู่กับปัญหาการคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตก สำหรับประเทศสยามที่ยังคงรักษาอธิปไตยไว้ได้ ก็อยู่ในวงล้อมของอังกฤษและฝรั่งเศส ดังนั้น การมาของรัสเซียน่าจะเป็นการดี ที่จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของภูมิภาคนี้เปลี่ยนไป ทำให้รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องเธอ กรมหมื่นดำรง ราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) อัญเชิญลายพระราชหัตถเลขาออกไปรับเสด็จซาเรวิตซ์ ซึ่งมีกำหนดที่จะเสด็จจากลังกาถึงสิงคโปร์ในตอนต้นเดือนมีนาคม

แต่ก็มีความพยายามจากมหาอำนาจตะวันตกอื่น ที่ไม่ต้องการให้ซาเรวิตซ์เสด็จมาประเทศสยามได้

มีการปล่อยข่าวเรื่องการระบาดของอหิวาตกโรคในกรุงเทพฯ แต่รัฐบาลประเทศสยามในขณะนั้นก็ได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้แผนการ เสด็จเป็นไปตามกำหนดเดิม ซึ่งในที่สุด ความพยายามของสยามก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อซาเรวิตซ์ทรงเป็นผู้ตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองที่จะเสด็จประพาสประเทศ สยามหลังจากที่ได้ทรงพิจารณาสถานการณ์ทั่วๆ ไปจากหลักฐานที่รัฐบาลสยามกราบทูลถวาย

และหลังจากที่ซาเรวิตซ์เสด็จกลับเพียง 4 เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จรัสเซีย เพื่อเยี่ยมเยือนตอบแทนในการเสด็จมากรุงสยามของซาเรวิตซ์ ซึ่งไกรฤกษ์ได้วิเคราะห์ไว้ว่า "...เป็น "วาระซ่อนเร้น" ของฝ่ายไทย ที่มีนัยยะมากกว่าความเป็นเจ้าของบ้านผู้เอื้อเฟื้อในภาวะปกติ"

นี่เองเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการพลิกโฉมทางการเมืองของประเทศสยามไปสู่ "ทิศทางใหม่" ที่มีรัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเล็งเห็นว่า รัสเซียเป็นประเทศมหา อำนาจหนึ่งของโลก

เพราะเล็งเห็นสถานการณ์ทางยุโรปขณะนั้น ที่ฝรั่งเศสได้กระชับความสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซีย ความโดดเด่นของสถานการณ์ทางยุโรป เป็นแรงขับเคลื่อนให้รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จประพาสยุโรป ในปี ค.ศ.1897 ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะกอบกู้เสถียรภาพของสยามที่สั่นคลอนลงอย่างมากจาก วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (Franco-Siamese War หรือ "สงครามฝรั่งเศส-สยาม" ในปี ค.ศ.1893 ที่ทำให้ไทยต้องเสียพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส) ให้กลับคืนมา ส่งผลให้เกิดการ "เลือกข้าง" และ "เปลี่ยนข้าง" พันธมิตรสยามในเวลาต่อมา

ไกรฤกษ์วิเคราะห์ไว้ว่า "รัฐบาลสยามเชื่อมั่นว่า ด้วยนโยบายทางการทูตและการแทรกแซงของมหา อำนาจชาติที่สาม จะทำให้ฝรั่งเศสมีท่าทีอ่อนลงบ้าง จึงเริ่มมองหาชาติมหาอำนาจชาติที่สามอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรที่ดีกับสยามและความสัมพันธ์อันดีเป็นทุนเดิมอยู่กับ ฝรั่งเศส ซึ่งไม่มีมหาอำนาจใดในเวลานั้นเหมาะสมเท่ารัสเซีย"

และ... "การเข้าแทรกแซงของรัฐบาลรัสเซียในหลายกรณี เป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียดของปัญหาข้อขัดแย้งลงได้มาก โดยเฉพาะสถาน การณ์ตึงเครียดที่กดดันรัฐบาลสยามอย่างรุนแรง แม้ว่าอันที่จริงการแทรกแซงของรัฐบาลรัสเซียจะไม่บรรลุเป้าหมายทั้งหมดได้ อย่างที่รัฐบาลสยามคาดหวังไว้ บทบาทของรัฐบาลรัสเซียในปัญหาดังกล่าวก็เป็นเสมือนหนึ่งแหล่งกลางที่คอยถ่าย ทอดท่าทีที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้คอยยับยั้งท่าทีที่แข็งกร้าวของทั้งสองฝ่ายไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีคุกคามที่รุนแรงขึ้นบางขณะของฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศส"

ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ "เบื้องหลังการเยือนกรุงสยาม ของมกุฎราชกุมารรัสเซีย มิติการเมืองใหม่สมัย ร.5" เป็นหนังสือดีที่น่าศึกษา

บวกกับคะแนนเต็มที่ให้กับ "ไกฤกษ์ นานา" ผู้เขียน ซึ่งได้รวบรวมภาพถ่ายพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 จากต้นฉบับจริง และหนังสือหายากเรื่อง การเดินทางสู่ดินแดนตะวันออกไกลของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย (Voyage En Orient DE S.A.I LE CESAREVITCH) ยิ่งต้องรีบคว้าหนังสือดีเล่มนี้มาครอบครอง

เพราะเหนืออื่นใด อย่างที่ไกรฤกษ์ว่าไว้ "(นี่)เป็นมุมมองของชาวรัสเซีย เป็นแหล่งข้อมูลของคนไทย เป็นข้อมูลเชิงลึกของนักการเมืองรัสเซีย ที่เราไม่อาจพบในข้อเขียนโดยนักเดินทางทั่วไป ล้วนเป็นรายละเอียดที่มีค่ายิ่งต่อสถานการณ์ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพลักษณ์ของสยามประเทศที่ถูกเฝ้ามอง เปรียบเทียบ และวิเคราะห์วิจารณ์โดยเปิดเผยและด้วยความยุติธรรม ในสมัยที่คนไทยยังไม่นิยมบันทึกเรื่องราวของตนเอง"

นี่คือมิติการเมืองใหม่ของสยามประเทศ สมัยรัชกาลที่ 5 ที่คนไทยต้องศึกษา



23-10-2009, 05:01 AM
http://board.palungjit.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น