พันเอก ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง
นักวิชาการด้านความมั่นคงอิสระ
วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ.2554
สถานการณ์โดยรวม
จากวันที่สหประชาชาติ โดยคณะมนตรีความมั่นคง เริ่มมีมติ 1973 ที่บังคับให้เกิด No Fly Zone เหนือน่านฟ้าลิเบีย ภายใต้กฏบัตรสหประชาชาติ หมวดที่ 7 (Chapter VII, UN Charter) ที่ตามมาด้วยการโจมตีภายใต้การนำของ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ต่อมาสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีที่ค่อนข้างระมัดระวัง ในการแสดงต่อ การโจมตีลิเบีย และไม่แสดงตนเป็นผู้นำในการปฏิบัติการ ต่อมาสหรัฐฯ เริ่มถอยห่างออกจากการปฏิบัติการในลิเบีย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯ เองที่ทำให้ต้องสงวนท่าที และ ที่สำคัญ สหรัฐฯ ใช้น้ำมันจากประเทศลิเบีย เพียง 3% ในขณะที่ประเทศรายใหญ่คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ ที่ใช้น้ำมันจากประเทศลิเบีย ถึง 30% - 40% ทำให้ภาพในปัจจุบันความรับผิดชอบหลักในลิเบียเป็นกลายมาเป็นของ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization : NATO)
ภายหลังจากความรับผิดชอบทั้งมวลในลิเบียตกเป็นของ NATO สิ่งที่เริ่มปรากฏให้เห็นคือ ความสามารถในการปฏิบัติการในลิเบีย เพราะประเทศเดียวในโลกที่สามารถนำกำลังจำนวนมหาศาล ไปยังประเทศไหนก็ได้ในโลกคือ สหรัฐฯ ถ้าสหรัฐฯ ไม่นำกำลังเข้าไปในลิเบียแล้ว ประเทศอื่นก็ยากที่จะทำได้ เพราะถ้าประเทศอื่นจะทำได้ต้องประกาศสงคราม เพราะต้องให้ผู้บริหารประเทศ หรือรัฐสภาของประเทศตนอนุมัติ ทำให้ภาพความชัดเจนของความสำเร็จในการโค่นล้มอำนาจของ พ.อ.กัดดาฟี่ จึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นหากจะต้องการให้ความได้เปรียบที่เกิดขึ้นในลิเบียสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ชาติตะวันตกที่เข้าไปยังลิเบียหวังไว้ จะต้องใช้แนวทางเดียวคือ การทำสงครามนอกแบบ (Unconventionl Warfare) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สงครามกองโจร (Guerilla Warfare) โดยการฝึกสอนการใช้อาวุธและยุทธวิธีสงครามกองโจร และส่งอาวุธให้กลุ่มต่อต้าน ดังจะเห็นได้จากข่าวการส่งอาวุธ ของฝรั่งเศสผ่าน กาตาร์ ซึ่งฝรั่งเศสก็ไม่ได้ส่งอาวุธให้โดยตรงอาจจะมีข้อจำกัดบางประการไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความสัมพันธ์กับประเทศมุสลิม และที่สำคัญคือ ฝรั่งเศส ในช่วงหลังจากสงครามเย็นมานั้น ฝรั่งเศสอาจจะไม่มีประสบการณ์และทรัพยากรมากพอในการทำสงครามนอกแบบ เพราะประเทศที่มีศักยภาพในการทำสงครามนอกแบบภายหลังจากสงครามเย็นยุติ ต้องเป็นประเทศที่มีนโยบายส่งการแผ่อำนาจทางทหาร ซึ่งนั่นก็คือสหรัฐฯ นั่นเอง เพราะในยุคสงครามเย็นกองทัพสหรัฐฯ มีกำลังมากพอและมีประสบการณ์ในการจัดตั้งกองโจรมาตั้งแต่สงครามเวียดนามตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เพราะปัจจุบันยังตั้งกองโจรในหลายประเทศ เช่น ในอัฟกานิสถาน และ อิรัก ที่เห็นได้อย่างเด่นชัด ยังไม่นับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏให้เห็น
จริงอยู่แม้อังกฤษและฝรั่งเศสจะมีประสบการณ์และชื่อเสียงในเกี่ยวกับสงครามนอกแบบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะหลังจากฝรั่งแศสพ่ายแพ้ต่อเยอรมัน ฝรั่งเศสก็ต้องใช้สงครามกองโจรสู้กับเยอรมัน หรืออังกฤษ ทำสงครามกองโจรที่มีชื่อเสียง ในนามของ ลอเรนซ์แห่งอาระเบีย (Lawrence of Arabia) การรบในมาลายู แต่ในช่วงหลังสงครามเย็นเป็นตนมา การทำสงครามกองโจรของอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นไปอย่างจำกัด และรวมทั้งการจัดหน่วยรบพิเศษต่างๆ (หน่วยรบพิเศษเป็นทหารที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสงครามกองโจร) ของทั้งสองประเทศยังมีจำนวนไม่มากและมีขอบเขตปฏิบัติการไม่เท่ากับสหรัฐฯ ได้เลย ด้วยสาเหตุเหล่านี้จึงทำให้การปฏิบัติการทางทหารในลิเบีย ของ NATO จึงเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอน ขาดพลังอำนาจที่มีความเด็ดขาดอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือน มี.ค.54 ทางสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ทาง หน่วยข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency : CIA) สหรัฐฯได้อนุมัติให้ ทาง CIA เข้าไปจัดหาและส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับทางกลุ่มต่อต้านในลิเบียได้ การส่ง CIA เข้าไปปฏิบัติการนั้นความจริงไม่เป็นเรื่องใหม่อะไร เพราะ CIA เคยทำงานในลักษณะนี้มาหลายครั้งในหลายประเทศแล้ว แต่การส่ง CIA เข้าไปนั้นจะมีความแตกต่างกับส่งหน่วยรบพิเศษที่ชื่อ Green Beret เพราะหน่วย Green Beret นั้นเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ในการจัดตั้งกองโจร ( 1 ชุดปฏิบัติการ 12 นาย สามารถจัดตั้งกองโจรได้ 1,500 คน) แต่ CIA นั้นเป็นหน่วยงานข่าว การเข้าไปนั้นเป้าหมายหลักคืองานด้านข่าวกรอง และอาจจะเป็นที่ปรึกษาทางทหารให้กับกลุ่มต่อต้านได้ แต่อาจจะไม่เหมาะกับการจัดตั้งกองโจร หรือ ฝึกกองโจร ความจริงแล้ว อังกฤษเองก็ได้ส่งหน่วยรบพิเศษ (น่าจะเป็น Special Air Services : SAS) และหน่วย MI 6 ซึ่งเป็นหน่วยงานข่าวกรอง ของอังกฤษ ประมาณ ไม่เกิน 20 คน เข้าไปปฏิบัติการในลิเบีย
ในช่วงกลางเดือน เม.ย.54 ที่ผ่านมาได้ปรากฏข่าวว่า พ.อ.กัดดาฟี่ ได้ยอมรับ Roadmap ที่เสนอโดยสหภาพแอฟริกา ในการที่จะหยุดยิงกับฝ่ายกลุ่มต่อต้าน โดย พ.อ.กัดดาฟี่ สามารถอยู่ต่อในอำนาจได้ แต่ฝ่ายกลุ่มต่อต้านยังปฏิเสธ Roadmap เนื่องจากฝ่ายกลุ่มต่อต้านต้องการให้ พ.อ.กัดดาฟี่ และลูกชายออกนอกประเทศในทันที การก้าวเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงท่าทีของ สหภาพแอฟริกา ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทสำคัญของภูมิภาค สำหรับ สหภาพแอฟริกา นั้นจะมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่ผ่านมา สภาของสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณ 173 ล้านเหรียญ ให้กับกองกำลังของสหภาพแอฟริกา เพื่อใช้ในภารกิจรักษาสันติภาพ ที่ ดาร์ฟู ประเทศซูดาน ปัจจุบันกองทัพไทยก็ส่งกำลังทหารไปรักษาสันติภาพที่นั่น
ปัจจุบันได้มีข่าวว่าทาง NATO ที่สนับสนุนการปฏิบัติการในลิเบียเริ่มที่จะขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะส่งให้กลุ่มต่อต้านเนื่องจากสหรัฐฯ ถอนตัว ทำให้เป็นการตอกย้ำว่าความสามารถในการทำสงครามกองโจร ในลิเบียเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะหัวใจหลักในการทำสงครามกองโจรคือ ความสามารถในการสนับสนุนของประเทศอุปถัมภ์ (Sponsor) นอกจากนี้การที่กลุ่มต่อต้านได้แถลงการณ์ตำหนิ NATO ว่าการโจมตีฝ่าย พ.อ.กัดดาฟี่ ของ NATO เป็นไปอย่างไม่เด็ดขาด ประเด็นเหล่านี้ทำให้สะท้อนถึงโอกาสแห่งความสำเร็จของการใช้กองโจร (กลุ่มต่อต้าน) ที่เป็นไปด้วยความยากมากขึ้น
มองลิเบียผ่านทฤษฏีสมคบคิด
ก่อนที่จะเขียนถึงทฤษฏีสมคบคิดนั้นคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทฤษฏีสมคบคิดนั้นเป็นการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะของการอนุมาน ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ปรากฏให้เห็นมากนัก โดยมากผู้ที่ใช้มักจะเชื่อมโยงปรากฏการณ์ต่างที่เกิดขึ้นเข้าด้วยกัน แต่การเชื่อมโยงนั้นไม่มีสิ่งใดระบุได้อย่างชัดเจน เป็นเพียงการอนุมานเท่านั้น และก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดในมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติของ สัจจะนิยม (Realisim) ยังคงเป็นเรื่องที่ประเทศที่มีพลังอำนาจของชาติที่ทรงพลังและเข้มแข็ง ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกประเทศ เพื่อรักษาสิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์ของชาติ (National Interest) เป็นสำคัญ
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงทฤษฏีสมคบคิดสำหรับสถานการณ์ในลิเบีย นั้นเกิดมาจากความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์ของทวีปแอฟริกา ที่ปัจจุบันยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีให้ใช้จำนวนมหาศาล ประกอบกับการการเติบโตของประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การค้าเสรี และ ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร แต่หากเมื่อไรมีสิ่งใดที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ แล้ว สหรัฐฯ เลือกที่จะรักษาผลประโยชน์ ของประเทศตนก่อนโดยไม่สนใจว่าจะละเมิดสิ่งใดบ้าง หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นประเทศที่ “Walk like a realist, Talk like a liberal.” เพราะฉะนั้นผลประโยชน์ในทวีปแอฟริการเป็นสิ่งที่ต้องแย่งชิง เพื่อครอบทรัพยากรที่สำคัญ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานของการผลิต ที่นำไปสู่การบริโภคในที่สุด สิ่งที่ยืนยันความสำคัญของประเด็นนี้คือ การเข้าโจมตีทางอากาศของ สหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตร เพราะยังมีที่อื่นในโลกที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่านี้ และรวมถึงการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกลุ่มต่อต้าน อีกด้วย
นอกจากนี้สหรัฐเป็นประเทศที่มีประวัติหลายครั้งที่เข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศที่เป็นคู่ปรปักษ์ด้วยการติดต่อคู่ขัดแย้งทั้งสอง เช่นในสงครามอิรัก – อิหร่าน 8 ปี ที่สหรัฐฯ สนับสนุนอิรัก แต่แอบขายอาวุธแบบลับๆ ให้กับอิหร่าน จนเป็นคดีความกันขึ้นมาจนโด่งดังไปทั่วนั้นคือ กรณี อิหร่าน คอนทรา
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีที่สนับสนุนแนวคิดในการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ดังที่ปรากฏตามสื่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี จอร์จ บุช ประธานาธิบดีบิล คลินตัน และ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประกอบกับได้เข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศของระเทศต่างๆ ทั้งรูปแบบ การทูต การเศรษฐกิจ และ การทหาร ในระดับที่แตกต่างตามบริบทของประเทศนั้นๆ
ต่อมาคือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของลิเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือน้ำมัน ที่เด่นชัดคือ การให้กลุ่มต่อต้านยึดครองเมืองสำคัญที่มีน้ำมัน และอนุญาตให้กลุ่มต่อต้านขาย น้ำมันเพื่อนำไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และเป็นทุนในการทำสงครามกับกองกำลังของ พ.อ.กัดดาฟี่ ดังจะเห็นได้จากที่สหรัฐฯ ยินยอมให้กลุ่มต่อต้าน ขายน้ำมันได้ และที่ผ่านมาได้มีการส่งขายออกไปยังกาตาร์ และจีน
การเสนอ Roadmap โดยสหภาพแอฟริกา ถึงแม้ว่าสหภาพแอฟริการจะเป็นองค์กรหลักในภูมิภาค ที่ให้ความสนใจกับสถานการณ์ในลิเบีย แต่ต้องสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้คือ ความสัมพันธ์ที่ดีของ สหภาพแอฟริกา กับ สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป ทำให้การเสนอแผนปฏิรูป ตาม Roadmap อาจมีวาระซ่อนเร้น ที่นำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในลิเบีย นอกจากนี้ สหภาพแอฟริกา ยังเป็นองค์กรที่มีชื่อปรากฏว่าเป็นหนึ่งใน จุดหลักสำคัญ (major milestones) ในแนวคิด New World Order
จากที่กล่าวมาในข้างต้นสามารถแบ่งความเป็นไปได้หากวิเคราะห์สถานการณ์ในลิเบียผ่านทฤษฏีสมคบคิด เป็นฉากทัศน์ได้ดังนี้
ฉากทัศน์ที่ 1 : การแบ่งแยกลิเบียในส่วนที่มีน้ำมัน แล้วเข้าใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจน้ำมัน แนวคิดนี้จะมีสิ่งปรากฏให้เห็นชัดคือ การช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มต่อต้านในการยึดครอง เมืองต่างๆ และตามมาด้วยการให้กลุ่มต่อต้านสามารถส่งออกน้ำมันแล้ว นำรายได้มาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อนำมาต่อสู่กับกองกำลังของ พ.อ.กัดดาฟี่ แนวทางนี้จะเป็นประโยชน์ในการณีที่สถานการณ์ไม่พัฒนาไปจากปัจจุบัน คือ ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถรุกคืบหน้าได้ แต่ซึ่งก็ไม่มีความสำคัญใดๆ แล้ว เพราะหากเป็นอย่างนี้กลุ่มต่อต้านก็ต้องขายน้ำมันนำมาซื้อาวุธสู้กับ พ.อ.กัดดาฟี่ตลอดไป ปัจจุบัน มีการส่งออกน้ำมันของกลุ่มต่อต้านในลิเบีย ประเทศที่ซื้อน้ำมันจากลิเบียไปแล้วคือ กาตาร์ และจีน ปัจจุบัน กลุ่มต่อต้านรัฐบาลสูบน้ำมันดิบจากบ่อประมาณ 80,000-120,000 บาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่การก่อความไม่สงบในช่วงกลางเดือน ก.พ.54 ลดลงจาก 420,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงก่อนเกิดเหตุการก่อความไม่สงบ
ฉากทัศน์ที่ 2 : การช่วยเหลือให้ พ.อ.กัดดาฟี่ อยู่ในอำนาจต่อ ภายใต้เงื่อนไขการปฏิรูปประเทศ แล้วเข้าใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจน้ำมัน สิ่งที่ยืนยัน ฉากทัศน์นี้คือ การก้าวเข้ามาของสหภาพแอฟริกา เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติการทหาร เพราะประธานาธิบดี โอบามา ประกาศนโยบายหาเสียงก่อนเข้าบริหารประเทศ ว่าจะพาทหารกลับบ้าน (ทหารในอิรัก และอัฟกานิสถาน) แต่พอ ประธานาธิบดี โอบามา สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ก็ไม่สามารถพาทหารกลับบ้านได้ อย่างที่ได้เคยหาเสียงไว้ ทำให้ในลิเบีย สหรัฐฯ ไม่สามารถใช้กำลังทหารของตนได้ แนวทางการเข้าแทรกแซงผ่านทาง สหภาพแอฟริกา จึงเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด เพราะลิเบีย โดย พ.อ.กัดดาฟี่ จะตอบรับสหภาพแอฟริกา ได้สะดวกและสนิทใจ มากกว่าองค์กรอื่นๆ อย่างสหภาพยุโรป และ สันนิบาตอาหรับ (ลิเบียเคยจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ) อีกทั้ง พ.อ.กัดดาฟี่ ยังสามารถอยู่ในอำนาจต่อได้ ขอเพียงทำการปฏิรูปประเทศ การดำเนินการในลักษณะนี้หากสำเร็จ การเปลี่ยนแปลงในลิเบียจะเป็นการเปลี่ยนผ่านโดยสงบ ซึ่งแนวทางนี้ สหรัฐฯ เคยยื่นข้อเสนอให้กับประเทศไทยในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา นั่นคือ ปฏิรูปไม่ใช่ปฏิวัติประชาชน (Reform not Revolution) โดยภายหลังการปฏิรูปประเทศ จะกลายเป็นช่องทางให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลในลิเบียได้สะดวกมากกว่าเดิม เพราะการปฏิรูปจะนำลิเบียไปสู่การเป็นประเทศที่มี เรื่องเหล่านี้คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การค้าเสรี และ ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ในระดับที่สูงขึ้น
บทสรุป
วันนี้การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของประเทศต่างๆ ในโลกล้วนแต่อยู่บนพื้นฐานของ ผลประโยชน์แห่งชาติตนเป็นที่ตั้ง แนวคิดต่างๆ ที่ถูกอ้างถึง ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การค้าเสรี และ ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรล้วนแต่เป็นเครื่องมือ ที่ประเทศที่มีกำลังอำนาจของชาติมากกว่าประเทศอื่น ใช้เป็นประตูที่ก้าวเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศที่ด้อยกว่า และมีผลประโยชน์อย่างเพียงพอ ลิเบีย ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการถูกแทรกแซงโดยประเทศที่มีกำลังอำนาจของชาติสูงกว่า
เมื่อหันมามองประเทศไทยแล้วคงจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราจะ Reform not Revolution ได้หรือไม่ เพราะหากเราไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงแล้ว เราจะต้องเผชิญกับการเข้ามาแทรกแซงจากประเทศที่มีกำลังอำนาจของชาติที่สูงกว่า จริงอยู่ที่ประเทศไทยไม่ได้มีน้ำมันอย่างประเทศในตะวันออกกลาง แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิรัฐศาสตร์ดี มีความเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ วันนี้เราหันมามองเรื่องเหล่านี้กันบางไหม หรือเรามองแต่ว่าทำยังไงจะได้รับการเลือกตั้ง หรือทำยังไงจะได้รักษาผลประโยชน์ต่างๆ ที่ของตนไว้ได้โดยไม่คำนึงถึงว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น