เพชรสีน้ำเงิน - เซบาสเตียน คอลิสกี้/ อลามี่ |
สองทศวรรษที่ผ่านมา มีคนสวนชาวไทยได้ปีนหน้าต่างขึ้นชั้นสองของพระราชวังในเจ้าชายแห่งซาอุดิอาระเบีย ใช้ไขควงงัดตู้นิรภัย และขโมยเครื่องเพชรน้ำหนักทั้งหมดประมาณ ๙๐ กิโลกรัม อดีตอุปทูตแห่งซาอุฯประจำกรุงเทพกล่าวกับวอชิงตันโพสต์ว่า คนสวนคนนั้นยัด “ทับทิมหลายเม็ดซึ่งมีขนาดเท่าไข่ไก่” ในถุงเครื่องดูดฝุ่น ในถุงนั้นยังมีเพชรน้ำงามแทบจะไม่มีตำหนิขนาดใหญ่สีน้ำเงินรวมอยู่ด้วย เป็นเพชรขนาด ๕๐ กะรัตซึ่งอาจจัดได้ว่า เป็นหนึ่งในเพชรสีน้ำเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก
อย่างน้อยนี่คือเรื่องราวที่เป็นไปตามที่สื่อไทย และอุปทูตคนเก่าได้กล่าวไว้ กรมสอบสวนคดีพิเศษของประเทศไทย (ดีเอสไอ) ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับเอฟบีไอกล่าวว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันความจริงในคดีนี้ – ว่าเพชรสีน้ำเงินที่อ้างว่ามีขนาดใหญ่กว่าเพชรโฮปนั้นมีจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือ การกล่าวหาเรื่องการขโมยเพชรนี้สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยหลายแสนล้านบาท มีคนต้องตายเพื่อสังเวยเพชรนี้ และทำให้ตำรวจไทยนายหนึ่งที่คล้ายเอลวิสต้องถูกพิพากษา และรอการประหารชีวิต มากกว่ายี่สิบปีต่อมา ราชวงศ์ซาอุฯที่ถูกทำการโจรกรรมนั้นยังคงยืนยันว่าต้องการเครื่องเพชรกลับ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทั้งสองยังคงเสื่อมทรามลงตราบจนทุกวันนี้
ในเดือนมกราคม ตำรวจไทย ๕ นายถูกจับกุม และถูกตั้งข้อหาว่า ฆาตกรรมบุคคลที่กล่าวว่าเกี่ยวโยงกับคดีนี้ สร้างความหวังอย่างมากว่า ในที่สุดคำตอบบางคำตอบของคดีที่เมืองไทยรู้จักกันดีว่าคือคดีเพชรซาอุฯ จะได้รับการถูกเปิดเผยกันเสียที สำหรับประเทศไทยแล้ว ยังหมายถึงการปรับปรุงสัมพันธ์ไมตรีทางการทูตกับซาอุดิอาระเบีย พร้อมกับโอกาสที่คนงานไทยจะได้เดินทางกลับไปทำงานในประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยน้ำมัน แต่คดีฆาตกรรมเพชรซาอุฯได้หมดอายุความลงในเดือนกุมภาพันธ์ คนไทยก็หมดทางเลือกเช่นกัน ขณะนี้ขี้นอยู่กับรัฐบาลซาอุฯที่จะเป็นฝ่ายตัดสินว่า ความพยายามของประเทศไทยครั้งหลังสุดนี้ พอที่จะฟื้นฟูสัมพันธไมตรีให้กลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่
สื่อในประเทศลงข่าวว่า หลังจากทำการขโมยเพชรในปี ๒๕๓๒ เกรียงไกร เตชะโม่ง คนสวนคนนั้นได้ส่งเครื่องเพชรที่ขโมยกลับไปยังภาคเหนือของประเทศไทยทางไปรษณีย์ และรีบหนีออกจากซาอุฯ หลังจากนั้นรัฐบาลซาอุฯได้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเกรียงไกรให้ประเทศไทยได้ทราบ ตำรวจไทยใช้เวลาไม่นานก็จับเกรียงไกรได้ แต่ก่อนที่จะถูกจับ เขาได้ขายเครื่องเพชรที่ประเมินค่ามิได้ไปในราคาชิ้นละประมาณหนึ่งพันบาท หลังจากนั้นไม่นาน นักการทูตซาอุฯ ๓ คนในกรุงเทพได้ถูกยิงทิ้ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดซ้อนกันภายในคืนเดียว สองวันต่อมา นักธุรกิจชาวซาอุฯอีกคนหนึ่งถูกลักพาตัว และไม่ได้พบเห็นอีกเลย
แม้ดีเอสไอยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานใดๆที่จะโยงการฆาตกรรม และการลักพาตัว กับการขโมยเพชร แต่นายโมฮัมหมัด โคจา อดีตอุปทูตซาอุฯ ยังคงยืนกรานตามนี้ และให้สัมภาษณ์บางกอกโพสต์ในปี ๒๕๓๘ ว่า คดีฆาตกรรม “เกี่ยวข้อง” กับการขโมยเพชร แม้จะมีการตายเกิดขึ้น ตำรวจได้เดินทางไปเยือนซาอุฯอย่างเป็นทางการเพื่อพยายามคืนเครื่องเพชรที่เกรียงไกรยังไม่ได้ขายออกไปให้รัฐบาลซาอุฯ โดยหวังว่าจะยุติเรื่องอื้อฉาวทั้งหลาย แต่เพียงไม่นานซาอุฯได้อ้างว่า เครื่องเพชรส่วนใหญ่ที่ได้คืนมานั้นเป็นของปลอม เรื่องที่แย่อยู่แล้วยิ่งหนักขึ้นไปอีก เมื่อสื่อในประเทศเสนอข่าวลือ ด้วยภาพภรรยาของข้าราชการซึ่งสวมสร้อยเพชรเส้นใหม่ในงานราตรีการกุศลงานหนึ่ง บางเส้นช่างคล้ายกับเครื่องเพชรที่ขโมยออกมาจากพระราชวังซาอุฯ ป่วยการที่จะพูด ซาอุดิอาระเบียไม่เห็นเป็นเรื่องน่าสนุกด้วย ในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๓ ซาอุดิอาระเบียยกเลิกการต่อวีซ่าทำงานให้กับคนไทยมากกว่าสองแสนคนที่กำลังทำงานในซาอุฯ และไม่ออกวีซ่าใหม่ให้อีก ตัดรายได้ของประเทศไทยจำนวนหลายแสนล้านบาท และห้ามคนในประเทศไม่ให้เดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย นาบิล อัชรีอุปทูตซาอุฯประจำประเทศไทยคนปัจจุบันกล่าวในอีเมล์ที่มีไปถึงไทม์ว่า การตัดสินใจที่จะลดสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยนั้น “เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า เพื่อเหตุผลในด้านความปลอดภัย และเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไทยคว้าน้ำเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่จะแก้ปัญหาอย่างเพียงพอ หรืออธิบายคดีต่างๆให้ทางเจ้าหน้าที่ซาอุฯได้รับทราบ”
ภายใต้แรงกดดันจากซาอุฯ ประเทศไทยยังคงทำการสืบสวนคดีนี้ แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลซาอุฯได้ตั้งความหวังเอาไว้ ในปี ๒๕๓๗ พ่อค้าเพชรซึ่ง โคจา เชื่อว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปลอมเครื่องเพชรนั้น ถูกลักพาตัว และต่อมาทั้งภรรยา และลูกชายวัย ๑๔ ถูกสังหาร ในเวลานั้น กรมตำรวจกล่าวว่า ทั้งคู่เสียชีวิตจากรถชนกัน แต่ โคจา ไม่เชื่อ วอชิงตันโพสต์นำคำพูดของโคจามาลง ที่ว่า “ความคิดของผู้บัญชาการฝ่ายชันสูตรนั้นช่างโง่เสียจริง นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุ”
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจคนเดิมที่เคยรับผิดชอบการสืบสวนตั้งแต่แรก และเป็นผู้ที่ส่งมอบเครื่องเพชรปลอมให้กับซาอุฯ ได้ถูกตำรวจไทยจับ และถูกตั้งข้อหาว่า เป็นผู้ออกคำสั่งฆ่าภรรยาและลูกชายของพ่อค้าเพชร นายตำรวจผู้ใหญ่ผู้นี้สู้คดี จนท้ายสุดในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ ศาลฏีกายืนยันคำตัดสินให้ประหารชีวิต ชลอยังคงอยู่ในคุก เขาได้ตั้งวงดนตรี และอัดแผ่นหน้าปกไทยเลียนแบบ “เจลเฮ้าส์ ร็อค” ของเอลวิส ชลอยังคงยืนกรานความบริสุทธิ์ของตัว โดยกล่าวกับไทม์แห่งลอนดอนว่า “คนที่ติดคุกไม่ได้กระทำผิดไปเสียทั้งหมด” หลังจากที่หลายชีวิตต้องถูกสังเวยไป ไม่น่าแปลกใจที่ โคจา จะกล่าวว่า เพชรสีน้ำเงินนั้นเป็น “เพชรอาถรรพณ์” ใครก็ตามซึ่งมีไว้ในครอบครองอย่างไม่ถูกต้องจะได้รับคำสาปแช่ง – เป็นเรื่องที่คนไทยหลายคนยังคงปักใจเชื่อ
ปริศนายิ่งเพิ่มความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อมูลนิธิเพื่อประชาธิปไตยแห่งอิหร่าน สำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ อ้างจากรายงานเมื่อปี ๒๕๔๙ ว่า การสังหารเจ้าหน้าที่การทูตในปี ๒๕๓๓ จากฝีมือของหน่วยล่าสังหารชาวอิหร่าน ดีเอสไอซึ่งเข้ามาคุมการสืบสวนแทนตำรวจในปี ๒๕๔๗ ปฏิเสธข่าวลือที่ว่า มีชาวอิหร่านเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในการฆาตกรรมนั้น ในปี ๒๕๕๒ มีการออกหมายจับ “อาบู อาลี” ด้วยข้อหาฆาตกรรมหนึ่งในเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุฯ ยิ่งกระพือการคาดเดาไปต่างๆนาๆบนหน้าหนังสือพิมพ์ และในโลกของชาวบล็อกที่ว่า ตะวันออกกลางมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ แม้หลักฐานจะอ่อนในเรื่อง อาบู อาลี แต่เมื่อปลายเดือนมกราคม ดีเอสไอได้เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติในประเทศฝรั่งเศส เพื่อขอร้องให้ทางองค์กรตำรวจสากลช่วยตามหาจับตัวผู้ต้องหาที่เป็นฆาตกรรายนี้
การสั่งฟ้องนายตำรวจทั้งที่ยังประจำการ และอดีตนายตำรวจทั้งห้าว่า ร่วมกันฆาตกรรมนักธุรกิจชาวซาอุฯที่หายตัวไปในปี ๒๕๓๓ และรอการพิจารณาคดีในปลายเดือนมีนาคมนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงโอกาสทองแห่งปีในการที่จะยุติข้อพิพาทที่ค้างคามาเนิ่นนาน เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งห้านายให้การปฏิเสธ และสาบานว่า จะต่อสู้คดีในศาล พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม นายตำรวจยศสูงสุดในบรรดาตำรวจทั้งห้านายนี้ โทษว่าการถูกจับเป็นเรื่องการเมือง เขาให้สัมภาษณ์เนชั่นแห่งกรุงเทพว่า เขามีพยานว่า “มีมือจากภายนอกพยายามคุกคาม และสร้างความกดดัน” ให้กับฝ่ายอัยการ
จนถึงเวลานี้ ปริศนาฆาตกรรมที่มีมาถึงสองทศวรรษนี้ดูไม่ต่างไปจากนวนิยายลึกลับ ซึ่งยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้บทสรุปด้วยเนื้อหาที่กระชับ นาบิล อัชรี ส่งอีเมล์ถึงไทม์มีเนื้อความว่า หากคดีทั้งหลายคลี่คลายลง ซาอุฯ “จะพิจารณาการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีอย่างจริงจัง” และเขาพอใจกับ “ความพยายามอย่างเต็มที่ของรัฐบาลไทยในเวลานี้” แต่เนื่องจากคดีได้หมดอายุความ ความกดดันจึงมาตกอยู่กับคดีที่กำลังรอการพิจารณาในศาล เพื่อความลับเบื้องหลังเพชรอาถรรพณ์นั้นจะได้มีการเปิดเผยเสียที ในไม่ช้านี้ทางซาอุฯต้องตัดสินใจว่า การอวดอ้างความพยายามของรัฐบาลไทยในวินาทีสุดท้ายนี้ จะเพียงพอหรือไม่ หรือเพชรอาถรรพณ์ที่ต้องคำสาปนี้ จะยังคงตามหลอกหลอนถึงความสัมพันธ์ทางการต่างประเทศของไทยไปอีกนาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น