รายงานพิเศษ "โธไรยสยามรัฐ" แปลและเรียบเรียง มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1313
ทุกๆ ปีหอจดหมายเหตุแห่งชาติของอังกฤษจะเปิดเผยเอกสารราชการที่เคยตีตราลับ ที่มีอายุครบสามสิบปี ให้ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาวิจัยค้นคว้าหาความรู้ความเข้าใจเบื้องหลังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น
เอกสารเหล่านี้มีทั้งเรื่องของเหตุการณ์การเมืองในอังกฤษเอง กับเรื่องเหตุการณ์ในต่างประเทศที่อังกฤษเข้าไปพัวพันอยู่ด้วยทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรือทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายงานโต้ตอบระหว่างสถานทูตอังกฤษประจำประเทศนั้นๆ ถึงรัฐบาลกลาง ณ กรุงลอนดอน เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในขณะนั้น
แน่นอนย่อมมีเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในไทยด้วย ไม่ว่าจะเริ่มตั้งแต่ยุคสมบูรญาณาสิทธิราชย์ จนย่างเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย หรือจนแม้ปัจจุบัน เพราะไทยคือตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในเอเชียตะวันออกไกลที่อังกฤษจะละเลยมิได้
นักวิชาการ นักค้นคว้า หรือผู้สนใจจากไทยจำนวนมากได้ใช้เอกสารเหล่านี้ในการต่อยอด หรือไขปริศนาประวัติศาสตร์ หรือชำระความจริงให้ชัดขึ้น ในงานเขียน งานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ของพวกท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมัย เซอร์จอห์น เบาริ่ง จนถึงการเจรจาในคราวสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
"ข้อมูลใหม่" เหล่านี้ บางครั้งเปลี่ยนโฉมหน้าการรับรู้ประวัติศาสตร์ ถึงขั้นเป็นการ "จับโกหก" นักการเมือง นักการทูต ที่มักยกตัวเองเป็นพระเอกในเหตุการณ์ระดับโลก
บางครั้งก็เป็นข้อมูลที่ "ประจาน" อังกฤษเองถึงการดำเนินนโยบายบางเรื่องที่ทำให้คนอื่น ประเทศอื่น เดือดร้อน หรือถึงขั้นแทรกแซงกิจการภายในของคนอื่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ตัวเองอย่างไม่ละอาย
ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองของไทย และสนใจเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 มากเป็นพิเศษ เพราะตัวเองกำลังรู้ความคืออายุ 7 ขวบ จึงจำเหตุการณ์ได้เงาๆ ยังจำได้ว่าตื่นเต้นมากกับภาพการชุมนุมของคนนับแสนที่ถนนราชดำเนิน
เมื่อโตขึ้น และรู้เรื่องหอจดหมายเหตุอังกฤษก็หวังว่าถ้ามีโอกาสสักวันหนึ่ง เมื่อเหตุการณ์ "14 ตุลา" ครบรอบสามสิบปี ตัวเองจะต้องไปหาโอกาสอ่านเอกสารเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นที่หอจดหมายเหตุอังกฤษเพื่อดูว่าจะมี "ข้อมูลใหม่" อะไรที่น่าสนใจบ้างหรือไม่
ในที่สุด เมื่อปีที่เหตุการณ์ 14 ตุลา ครบรอบ 22 ปี ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านเอกสาร "ลับ" ที่เป็นการโต้ตอบกันระหว่างสถานทูตอังกฤษในไทย กับรัฐบาลอังกฤษยุคนั้น
"ข้อมูลใหม่" ที่ได้พบทำให้ผู้เขียนนิ่งตะลึงและต้องอ่านอย่างใจจดใจจ่อ พร้อมกับบอกตัวเองว่าจะต้องนำเรื่องเหล่านี้มาถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมชาติไทยได้รับรู้ด้วย
คงไม่มีใคร (นอกจากผู้เกี่ยวข้อง) จะรู้มาก่อนว่า พันเอกณรงค์ กิตติขจร ขอลี้ภัยในอังกฤษเป็นที่แรกหลังจากออกนอกประเทศไปอยู่ไต้หวัน
นอกจากนั้น เราจะได้ทราบเรื่องที่นักวิชาการไทยที่เป็นสายฝ่ายขวาจัดคนหนึ่งแทง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อย่างไม่ยั้งให้ฝรั่งฟังว่าท่านอยู่เบื้องหลังการจัดการเดินขบวน
เอกสารที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นการแปลจากต้นฉบับ ไม่มีการตัดต่ออย่างใดทั้งสิ้น ที่อ่อนด้อยน่าจะเป็นเรื่องภาษา ท่านผู้สนใจสามารถไปอ่านต้นฉบับได้ที่หอจดหมายเหตุอังกฤษ ข้างสวนคิวได้ทุกเวลา โดยหาในคำว่า Thailand และเลือกปี 1973
เมื่ออ่านแล้วท่านจะคิดยังไง ย่อมเป็นวิจารณญาณของท่านเอง ผมเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเท่านั้น
ลับ
สถานการณ์การเมืองภายในของไทย
1.เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้สนทนากับ ดร.กระจ่าง พันธุมนาวิน อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาเรื่องชาวเขาประจำ กอ.รมน. ดร.กระจ่างติดต่อใกล้ชิดกับศูนย์นิคมสร้างตนเองของชาวเขาทุกแห่ง เช่น ที่จังหวัดน่าน จังหวัดเพชรบูรณ์ และที่อื่นๆ (ซีโต้มีผลประโยชน์ในศูนย์เหล่านี้) และยังเป็นเพื่อนสนิทของพันเอกสุตสาย ผู้ที่ช่วยบริหารศูนย์เหล่านี้ งานของ ดร.กระจ่างยังทำให้เขาได้พบปะกับผู้แปรพักตร์จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ไทย (พคท.) ซึ่งเขาได้ใช้ฐานะตรงนี้ปฏิบัติการลับด้านการสอบสวนให้ กอ.รมน. งานสองด้านของ ดร.กระจ่างทำให้เขาดูจะมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเรื่องความคิดเห็นและกิจการ ของทั้งด้านนักวิชาการและนักศึกษากับด้านรัฐบาล
ต่อไปนี้คือบทสรุปความเห็นของ ดร.กระจ่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไป
2.ข้อมูลของ ดร.กระจ่างเรื่องการประท้วงต้นตอของ "สิบสามกบฏรัฐธรรมนูญ" ที่นำไปสู่การจลาจลนั้นน่าสนใจ เขามีความเห็นว่ามีพลังอย่างน้อยสามกระแสที่เข้าไปปลุกปั่นตะกอนของความไม่ชอบใจรัฐบาลทหารในหมู่ปัญญาชน ข้อแรก ดร.กระจ่างเชื่อว่าหนึ่งหรือสองคนใน "13 กบฏ" รับอิทธิพลจากคอมมิวนิสต์ที่วางแผนให้เกิดความวุ่นวาย ข้อสอง เขามองย้อนหลังแล้วเห็นว่า ดร.ป๋วย มีส่วนเกี่ยวพันกับ 13 กบฏทางใดทางหนึ่ง (แม้ว่าความเกี่ยวพันนี้จะไม่ชัดมากเหมือนกับการเข้าไปช่วยเรื่องการจัดการประท้วงภายหลัง) ข้อสาม และถือว่าเป็นปัจจัยตัดสิน คือ "นายพลทหารบกไทยคนหนึ่ง" ใช้ 13 กบฏ เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง
3. กระจ่างบอกว่าไขแสง (ซึ่งอยู่ในกลุ่มประท้วงกลุ่มแรกแต่ไม่ถูกจับจนวันรุ่งขึ้น) พยายามจะจูงตำรวจให้จับพวกนักประท้วง ว่ากันว่าเขาพูดจารุนแรงกับนายตำรวจที่เตือน 13 กบฏว่ากำลังละเมิดกฎหมาย ซึ่งทำให้ตำรวจเกิดโมโหและขยายความผิดของ 13 กบฏเสียใหญ่โตเพื่อจะทำให้มั่นใจว่า จอมพลประภาส อนุมัติให้จับกุม 13 กบฏได้ เมื่อเกิดชุลมุนกันขึ้น ไขแสงกับนักศึกษาอีกคนหนีไปได้แต่ก็ถูกจับได้ในวันต่อมา กระจ่างเชื่อว่าไขแสงรับคำสั่งจากคอมมิวนิสต์
4. กระจ่างกับพันเอกสุตสาย มีข้อสรุปร่วมกันจากข้อมูลที่พวกเขามี จากการที่ทั้งคู่เข้าถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. (ซึ่งกระจ่างบอกว่ามีสายของหน่วยปราบคอมมิวนิสต์อยู่ในนั้น) พวกเขาจึงรู้ว่า ตั้งแต่ปี 2515 คอมมิวนิสต์แทรกซึมขบวนการนักศึกษาเรื่อยๆ และได้ผลดี ทั้งคู่เชื่อว่าคอมมิวนิสต์กลุ่มนี้เคลื่อนไหวเพื่อก่อกระแสอารมณ์ของนักศึกษา ให้พุ่งสูงในจังหวะสำคัญโดยทำแบบจำกัดวงแต่ยังทิ้งร่องรอยให้รู้ และเห็นได้ชัดในช่วงจลาจล อย่างไรก็ตาม คอมมิวนิสต์เหล่านี้ยังไม่แสดงขุมกำลังที่แท้จริงออกมา และไม่ได้ติดอาวุธอีกด้วย
5. หน่วยปราบคอมมิวนิสต์ มีข้อมูลของคอมมิวนิสต์อื่นๆ ในขบวนการนักศึกษากับอาจารย์มหาวิทยาลัย คนเหล่านี้น่าจะรู้ว่าทางการหมายหัวไว้แล้ว ดังนั้น 1 สัปดาห์ก่อนการประท้วงจะเริ่ม (และก่อนการจับ "13 กบฏ") คอมมิวนิสต์ที่ทางการจับตาส่วนใหญ่หลบลงใต้ดินและไม่เข้าร่วมประท้วง คนกลุ่มนี้ยัง "อยู่บ้าน" จนตอนนี้
6. กระจ่างกับสุตสายเชื่อแน่ว่า ดร.ป๋วยเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการจัดการเดินขบวนประท้วง ที่เป็นชนวนนำไปสู่จุดจบของรัฐบาล สิ่งที่พวกเขาใช้ยืนยันคือการสนทนาระหว่าง นายปราโมช นาครทรรพ อาจารย์ธรรมศาสตร์ (ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ) กับมิตรของกระจ่างผู้เป็น "ผู้ใหญ่และรับผิดชอบบ้านเมือง" ท่านผู้นี้ถามปราโมชว่าได้ช่วยจัดการเดินขบวนประท้วงให้มีประสิทธิภาพอย่างไร เห็นได้จากการวางระบบแพทย์พยาบาลกับการสื่อสารที่ดีมาก ซึ่งตามคำเล่าต่อสู่กระจ่าง ปราโมชบอกว่าเขาได้รับคำสั่งอย่างละเอียดจาก ดร.ป๋วย (กระจ่างชี้ว่า ดร.ป๋วยมีประสบการณ์งานใต้ดินอย่างช่ำชองในช่วงเป็นเสรีไทยตอนสงครามโลกครั้งที่สอง)
7. ในที่สุด กระจ่างกับสุตสายเชื่อว่า "นายพลทหารบก" ผู้ลึกลับที่เกี่ยวกับการออกมาประท้วงของ 13 กบฏ ก็มีส่วนในการประท้วงใหญ่ด้วย สำหรับตอนนี้ยังไม่มีทางที่จะรู้ว่าเขาทำงานยังไง และกระจ่างก็ไม่แม้แต่จะยอมเดาชื่อนายทหารผู้นี้ แต่เขาเชื่อว่านายทหารผู้นี้มีตัวตนจริง และที่สำคัญกว่าคือจอมพลประภาสเชื่อมั่นเหมือนกันว่ามีนายพลทหารบกเกี่ยวพันกับการประท้วงด้วย (ข้อมูลจากเพื่อนของกระจ่างที่ใกล้ชิดกับจอมพลประภาสตลอดเหตุวุ่นวาย) ว่ากันว่า หลังจากการจับ 13 กบฏ จอมพลประภาสพูดกับคนสนิทคนหนึ่งว่า "อั๊วจะบีบพวกมันจนยอมคายชื่อนายพลคนนั้นออกมา"
เหตุการณ์ 14 กับ 15 ตุลาคม
8.ระหว่างการประท้วงกระจ่างกับสุตสายใช้เวลามากทีเดียวเฝ้าฟังวิทยุสื่อสารตำรวจ เพราะสุตสายเข้าเครือข่ายนี้ได้ กระจ่างยืนยันกับผมว่าตอนหนึ่งตัวเขาเองได้ยินข้อความส่งจากตำรวจนอกเครื่องแบบคนหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่กองบัญชาการ ตำรวจนายนี้แสดงตัวด้วยรหัสของจริง และบอกว่าในตอนนั้น มีนักศึกษาติดอาวุธพร้อม จำนวน 2,000 คน ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาวุธที่ว่ามี ปืนพก ปืนบาซูก้า ระเบิดมือ และปืนต่อต้านรถถัง อย่างที่เรารู้แล้วคือรายงานนี้ผิด จริงๆ แล้วสื่อมวลชนที่ธรรมศาสตร์รายงานว่าช่วงนั้นมีนักศึกษาแทบไม่กี่คน
กระจ่างตั้งคำถามว่าทำไมตำรวจจึงรายงานเรื่องนี้ และใครคือคนรายงาน ถ้ารัฐบาลจงใจจะปล่อยข้อมูลลวง ก็ไม่น่าจะถึงขั้นสร้างข้อมูลเท็จผ่านเครือข่ายลับสุดยอดของตำรวจ แต่ถ้ารายงานนี้เกิดจากฝีมือนักสร้างสถานการณ์ แล้วทำไมคนคนนี้ถึงเข้าถึงเครือข่ายของตำรวจได้ ยิ่งกว่านั้นยังเข้าถึงรหัสเรียกขานอีกด้วย ? เรื่องนี้จะมองได้ไหมว่าเป็นแค่ความผิดพลาดในส่วนของตำรวจที่ไปหลบในที่ปลอดภัยแล้วรายงานข่าวลือ หรือจะเป็นความตั้งใจที่จะทำให้ตำรวจตอบโต้จนเกินขอบเขต ?
9. เกี่ยวกับเรื่องอาวุธในกรุงเทพฯ กระจ่างบอกว่าเนื่องจากงานของสุตสายทำให้เขาสามารถ "ขนปืนแถบภาคเหนือ" เป็นบางครั้ง ผลจากการรู้จักคนในงานนี้ กระจ่างกับสุตสายทราบมาว่ามีการลักลอบนำอาวุธจำนวนหนึ่งที่มีปืนคาร์ไบน์เป็นหลัก (เอ็ม 1, เอ็ม 2 ฯลฯ) เข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปี
อย่างไรก็ตาม แทบจะไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีการนำปืนพวกนี้ออกมาใช้ในช่วงวุ่นวายเมื่อเร็วนี้ ตรงนี้แปลความได้ว่าอาวุธเหล่านี้ยังอยู่ในกรุงเทพฯ และจะเพิ่มขึ้นๆ
การดำเนินการของผู้นำทหาร
10.กระจ่างเผยเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของ พลตรีสายหยุด เกิดผล (ยศขณะนั้น) ระหว่างการประท้วง ตั้งแต่ช่วงแรก พลตรีสายหยุดขอให้จอมพลประภาสเห็นว่าการประนีประนอมนั้นจำเป็นยิ่งและทหารอาจต้องยอมแพ้ศึกนี้เพื่อชนะสงคราม เห็นได้ชัดว่าพลตรีสายหยุดอาสาจะไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยตัวเอง เพื่อเจรจากับนักศึกษาเพื่อจะถอดชนวนเหตุการณ์ก่อนจะบานปลาย อย่างไรก็ตาม จอมพลประภาส (แน่ละที่คงจะจำได้ถึงการหาประโยชน์จากงานคล้ายกันนี้เมื่อปี 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ผู้ปั้นเขามา) ตัดสินใจว่าไม่อยากได้อัศวินม้าขาวเข้าทำการแทนตัวเอง หลังจากนั้น พลตรีสายหยุดก็ถูกปล่อยเกาะและไม่ได้เข้าร่วมในเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ตามมาอีก
เหตุนี้บวกกับการเมินเฉยต่อพลตรีสายหยุดน่าจะเป็นต้นตอของการที่นักศึกษาขอให้เขาเป็นตัวเชื่อมทางการกับรัฐบาล นักศึกษาพูดว่าพลตรีสายหยุดเป็นนายทหารคนเดียวที่พวกเขาไว้ใจ แต่กระจ่างสงสัยว่าจุดยืนข้างนักศึกษาของพลตรีสายหยุดจะช่วยอนาคตของเขาได้แน่หรือ สำหรับตอนนี้ สายหยุดยังไม่ใช่หนึ่งในนายทหารผู้ใหญ่ที่กำอำนาจแท้จริงของประเทศ
11. สำหรับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การออกนอกประเทศของสามผู้อื้อฉาว กระจ่างสงสัยมากกับข่าว (ที่รายงานในบางกอกโพสต์) ว่า จอมพลถนอมกับจอมพลประภาสประชุมผู้นำเหล่าทัพแล้วให้ทุกคนบอกว่าจะภักดีกับพวกเขานั้นจะเป็นเรื่องจริง จากข้อมูลที่เขามีกระจ่างรู้สึกว่าไม่มีตอนไหนที่กองทัพเรือกับกองทัพอากาศ จะถูกสงสัยเรื่องความภักดี (แต่ความสงสัยอาจมีได้เหมือนกัน) ที่เกือบแน่ๆ คือ ฝ่ายตำรวจนั้นไม่ต้องสงสัยเลย (แต่ก็มีหลักฐานถึงความไม่พอใจในกองทัพเหล่านี้เหมือนกัน เช่น ตอนหนึ่งเหมือนว่านายทหารอากาศคนหนึ่งต้องถูกใช้กำลังยับยั้งไม่ให้ขับเครื่องบินชนรถถังที่จอดตรงอาคารกรมประชาสัมพันธ์) แต่เรื่องสำคัญคือ ผู้นำทหารบกกลุ่มหนึ่งลังเลอย่างมากที่จะส่งทหารเข้าไปเพิ่มในการต่อสู้ และพระเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการที่จะแก้ปัญหาโดยไม่ใช้กำลังทหาร
เมื่อนำเหตุการณ์เหล่านี้มาบวกกันมันก็ค่อยชัดขึ้นช้าๆ กับจอมพลถนอมกับจอมพลประภาสว่าเวลาของพวกเขา อาจจะกำลังใกล้หมดแล้ว อย่างไรก็ตาม มันต้องรอจนเมื่อ พลเอกกฤษณ์ (สีวะรา) เปลี่ยนข้าง (ตามข้อมูลของกระจ่างเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่ออะไรผ่านไปมากพอควร) สองจอมพลจึงตกลงใจว่าจะออกนอกประเทศ กระจ่างยังรู้สึกว่าสองจอมพลได้คำยินยอมในหลายเรื่องจากผู้นำทหารที่อยู่เบื้องหลัง ในเรื่องที่พวกเขาจะอยู่อย่างไม่เดือดร้อนในต่างประเทศก่อนจะออกจากประเทศ
และถือเป็นเงื่อนไขที่พวกเขายอมออกนอกประเทศ
การดำเนินงานของนักศึกษา
12.ในการคุยกันถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเริ่มนองเลือด กระจ่างยืนยันว่าเสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) เป็นผู้นำที่เสนอไม่ให้ประนีประนอมกับรัฐบาล เสกสรรค์เป็นนักศึกษาที่ฉลาดมาก เรื่องนี้ทำให้อธิบายไม่ได้ว่าทำไมเขาถึงเรียนไม่จบจากธรรมศาสตร์ตลอดหกปีที่ผ่านมา เราคงเรียกเขาได้ว่าเป็นนักศึกษาอาชีพ และกระจ่างเชื่อว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์
ในคืนวันที่ 13 ตุลาคม เสกสรรค์เป็นผู้นำนักเรียนอาชีวะกับช่างกล (ซึ่งสังคมเห็นว่าเป็นพวกนักเลงในคราบนักศึกษา) พร้อมป้อนเหล้าพวกเขาอย่างเต็มที่ นักเรียนกลุ่มนี้ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นต้นตอการต่อสู้ที่เริ่มนอกพระราชวังจิตรลดาตอนเช้าวันที่ 14 ตุลาคม ในอนาคตทุกคนจะจำว่านักศึกษาบอกว่าตำรวจเริ่มยิงปืนกับแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มนักเรียนช่างกลหน้าพระราชวัง กระจ่างอ้างว่านักศึกษาที่เห็นเหตุการณ์บอกเขาว่าการสู้กันเริ่มจากนักเรียนช่างกลและตำรวจยิงป้องกันตัว
ซึ่งเปลวไฟจุดนี้แหละที่ลามไปทั่วทุ่ง
รัฐบาลใหม่
13.กระจ่างกับเพื่อนเป็นห่วงมากที่สุดที่รัฐบาลใหม่ดูจะไม่ทำอะไรเลย พวกเขารู้สึกว่าการไร้ความเด็ดขาดของรัฐบาลใหม่เปิดช่องให้พวกนักศึกษา ในส่วนสมาชิกรัฐบาลนี้กระจ่างรู้สึกว่าคนเดียวที่ทำอะไรได้เด็ดขาดคือ นายบุญมา วงษ์สวรรค์ รัฐมนตรีคลัง
ซึ่งปลดนายทหารสองสามคนออกจากกรรมการองค์การยาสูบไปเมื่อเร็วๆ นี้
อนาคต
14.กระจ่างรู้สึกว่าด้านที่อันตรายที่สุดของสถานการณ์ปัจจุบันคือ การเติบโตขององค์กรคู่ขนานกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในหมู่นักเรียนอาชีวะและช่างกล และยังลงไปถึงระดับมัธยมแล้วด้วย เขาเชื่อว่าองค์กรแบบนี้จะถูกนำโดยคนอย่างเสกสรรที่รู้กันว่าโยงกับคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันคนถือว่านิสิตนักศึกษาเป็นวีรชนของชาติและจึงทำอะไรไม่ผิด สำหรับคอมมิวนิสต์ที่โฆษณาชวนเชื่อกันมา กลับปรากฏว่าทำตรงข้ามตอนประท้วงใหญ่ด้วยการรักษากำลังและทำตัวเงียบมาก แต่อาจจะหวังฉวยโอกาสใช้ความไม่แน่นอนในบ้านเมืองให้เป็นประโยชน์สูงสุด
ตรงนี้ทำให้กระจ่างกังวลมากที่สุด เขารู้สึกว่ารัฐบาล หรือหน่วยปราบคอมมิวนิสต์ "หรือองค์กรไทยที่เหมาะสมสักแห่ง" ควรหาทางจัดการถ่ายเทกิจกรรมของนักศึกษาไปในทางที่สร้างสรรค์กว่านี้ ยิ่งรัฐบาลจะพบว่ามันยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะแบ่งเงินให้กับการต่อสู้คอมมิวนิสต์ (เพราะความเห็นของสังคม ดูข้างล่าง) กระจ่างตั้งข้อสังเกตว่าไม่ว่าจะเป็นหน่วยปราบคอมมิวนิสต์หรือใครที่ทำภารกิจนี้อาจต้องหางบลับจากต่างประเทศ
15. เมื่อจอมพลถนอมกับจอมพลประภาสลี้ภัยไปแล้ว ทำให้คนไทยเปลี่ยนความคิดเรื่องภัยคุกคาม จากคอมมิวนิสต์ต่อประเทศไทยไปมาก เพื่อนร่วมงานของกระจ่างบางคนที่มหาวิทยาลัย และนักศึกษาเกือบทั้งหมดไม่เชื่ออีกแล้วว่า ประเทศไทยไม่ตกอยู่ใต้ภัยก่อการร้ายจากคอมมิวนิสต์ คนเหล่านั้นออกไปทางไม่เชื่อเอาเลยเพราะคิดว่าเป็นการพูดเกินจริงอีกเรื่อง (เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ) ของรัฐบาลเก่าเพื่อเบนความสนใจจากการบริหารชาติผิดพลาด ผลต่อมาคืองานของหน่วยปราบคอมมิวนิสต์จะยากขึ้นอีก ซึ่งอาจถึงขั้นอยู่ไม่ได้ ตอนรัฐบาลเก่าหน่วยปราบคอมมิวนิสต์ก็ทำงานยากอยู่แล้ว เวลาของบประมาณแข่งกับหน่วยทหารที่มีอิทธิพลมากกว่า สำหรับรัฐบาลใหม่จะยากเป็นสองเท่า
16. ท้ายสุด บางทีประเด็นสำคัญที่สุดของกระจ่างคือ ปัญหายังไม่จบง่ายๆ ความไม่เฉียบขาดของรัฐบาลใหม่, การขาดการเฝ้าระวังความเห็นที่มีอิทธิพล, ความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ (พร้อมกับคลังอาวุธ), การที่กิจกรรมนักศึกษาครอบงำสังคม และการที่อำนาจแท้จริงยังอยู่ในมือทหาร เหล่านี้อาจนำไปสู่การปะทะที่จะนองเลือดรุนแรงกว่าที่เราได้เห็นมาแล้ว บางทีน่าจะก่อนสิ้นปีนี้ เขาคิดว่าเรื่องต่อไปที่นักศึกษาจะฉวยมาขยายผล ซึ่งจะทำให้เกิดการปะทะกันที่เขาคาดไว้ คือ
การที่สหรัฐยังมีฐานทัพในไทย
ความเห็น
17.ช่วงรัฐบาลเก่า กระจ่างจะพูดจาโผงผางตำหนิถนอม/ประภาส ในที่รโหฐานเสมอๆ อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าระบบยังไม่ถูกเปลี่ยนในสาระสำคัญ ตอนนี้คนไทยได้แต่ความเลวร้ายจากทั้งสองฟาก คือ ซากขององค์กรบริหารจากรัฐบาลทหารจอมทุจริตบวกกับการที่สังคมขาดความใส่ใจเรื่อง การก่อการร้ายต่อประเทศที่เป็นเรื่องจริงจัง
ผมไม่ถือกระจ่างว่าเป็นคนไม่รู้อะไรแล้วมาอ้างเรื่องลอยๆ ซึ่งผมจะถือความเห็นของเขาเป็นสาระ แต่เมื่อเขาไม่ได้เข้าถึงระดับตัดสินใจสูงสุดเราคงต้องระวังไว้ด้วยเช่นกัน
เจ แอล โจนส์
30 ตุลาคม 2516
หน้า 26
"ข้อมูลใหม่"10 วันหลัง 14 ตุลาคม 2516 จาก"ทูตทหาร"อังกฤษประจำกรุงเทพฯ
รายงานพิเศษ "โธไรยสยามรัฐ" แปลและเรียบเรียง มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1314
ลับสุดยอด
ทูตทหาร
สถานทูตอังกฤษ
กรุงเทพฯ
25 ตุลาคม 1973
รายงานไทย 17/73
การปฎิวัติของนักศึกษา
1.ตอนนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไป ถนอมอยู่ที่บอสตัน ประภาสกับลูกเขยอยู่บ้านที่ไทเป เราได้รัฐบาลพลเรือน ไม่มีผู้บัญชาการทหารสูงสุด คำสัญญารัฐธรรมนูญใหม่ในอีกไม่กี่เดือน แล้วจะมีเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่เพื่อให้รัฐบาลดีขึ้นและลดคอร์รัปชั่น
ตอนนี้มันเป็นไปไม่ได้ที่จะตัดสินว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ระหว่างสุดสัปดาห์อันมืดมิดนั้น และถึงแม้จะมีการตั้งกรรมการสอบสวน อย่างเป็นทางการ ผมสงสัยว่ากรรมการจะเข้าถึงก้นบึ้ง ของห่วงโซ่เหตุการณ์ที่น่าเสียใจนั้นไหม
แม้แต่ตัวเลขคนบาดเจ็บล้มตายยังไม่แน่นอนในตอนนี้ แม้การประมาณการที่ผมถือว่าน่าเชื่อให้จำนวนตำรวจ กับทหารที่เสียชีวิตที่ 10 นาย มีบาดเจ็บ 40 นาย ด้านพลเรือนเสียชีวิต 63 นาย และบาดเจ็บอีกประมาณ 853 นาย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหลังนั้นไม่แน่นอนมาก
2. ตอนที่ปัญหากำลังรุกคืบเข้าใกล้นั้น ประภาสกุมอำนาจอยู่ เขามอบอำนาจรับผิดชอบทั้งหมดด้านตำรวจให้กับ พลโทประจวบ สุนทรางกูร ด้านทหารให้ลูกเขยคือ พันเอกณรงค์
แบบนี้มันก็เป็นสถานการณ์ที่น่าพิศวงจริงๆ เพราะมันทำให้พันเอกมีอำนาจสั่งนายพลได้ แต่มันก็ทำให้ พลเอกกฤษณ์ ผบ.ทบ. แทบจะไม่เกี่ยวกับการนองเลือด ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของเขา
จริงๆ แล้ว แค่หนึ่งหรือสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้เท่านั้นที่ประภาสสละตำแหน่ง ผบ.ทบ. ให้กฤษณ์ ถ้าการปฏิวัติของนักศึกษาเกิดตอนประภาสเป็น ผบ.ทบ. แล้ว ผมเชื่อว่าการนองเลือดจะกินวงกว้างกว่านี้
สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น ร.11 ของณรงค์เท่านั้น ซึ่งมีรถถังประมาณ 6 คันเข้าร่วมสลายการชุมนุม แต่ทหารที่เหลือในกองทัพภาคที่ 1 ก็ถูกสั่งให้เตรียมพร้อมอยู่เหมือนกัน ณรงค์หาเงินได้หลายร้อยล้านตอนที่เขามีอำนาจการเมือง จากข้อตกลง (---) ต่างๆ แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือในกองทัพบกบอกผมว่าณรงค์เอาเงิน (---) พวกนี้จำนวนหนึ่งซื้อความเด่นดังและที่ร้ายที่สุดคือ ซื้อความภักดีของ ร.11
ตอนที่ประภาสตั้งณรงค์ให้รักษาความสงบเรียบร้อยทางทหารในพระนคร เขาข้ามหัว ผบ.ทบ., แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งก็เป็นพี่เขยตัวเอง, กับผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่หนึ่ง พอประภาสกับณรงค์เห็นว่าสถานการณ์คุมไม่ได้ พลเอกกฤษณ์ไม่อนุมัติให้เพิ่มทหารจากกองทัพภาคที่ 1 เข้าร่วมปฏิบัติการ
3.ขวัญกำลังใจของตำรวจเสียหายมาก พวกเขาถูกส่งไปปฏิบัติการเป็นกลุ่มเล็กๆ และในหลายๆ กรณีจำต้องเปิดฉากยิงป้องกันตัวเพราะมีคนเป็นพันพุ่งเข้าโจมตี ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้น
ผมได้รับทราบจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ว่าตำรวจเปิดฉากยิงเพราะมีข่าวลืออย่างเดียวที่สะพัดตอนรุ่งสางของวันอาทิตย์ มีคนไปบอกผิดๆ กับนักศึกษาที่ทยอยกลับมหาวิทยาลัยอย่างสงบว่าเพื่อน 5 คนถูกตีจนตายแถวพระราชวังจิตรลดา
ตอนนั้นเกิดเหตุแถววังเมื่อตำรวจที่ไม่รู้ผิดชอบยิงแก๊สน้ำตาใส่นักศึกษา ทำให้พวกเขาแตกฮือ และวิ่งไปที่คลองสองฟากถนนเพื่อหลบแก๊สน้ำตา ต่อจากนั้นนักศึกษาจำนวนมากออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อ "ล้างแค้นให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์" ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง นักศึกษาตามทำร้ายตำรวจและในที่สุดทหารก็ถูกส่งเข้ามา ผมเห็นตำรวจมากนายตอนเช้าวันอาทิตย์ถือปืนคาร์ไบน์เพิ่มจากปืนพกประจำตัวที่มีไว้เวลาปกติ สำหรับผม ดูเหมือนมันผิดพลาดอย่างมาก ที่จะให้คนคนหนึ่งพกอาวุธเต็มที่อย่างนั้น เพราะมันเสี่ยงที่เขาจะถูกพวกจลาจลแย่งอาวุธไปใช้
4. ว่ากันว่านักศึกษาถูกปืนกลยิงจากเฮลิคอปเตอร์ ผมสงสัยเรื่องนี้มาก ผมรู้ว่าณรงค์ขึ้น ฮ. เพื่อไปสำรวจพื้นที่การประท้วงและผมเห็น ฮ. ทัพบกสองลำวนเหนืออาคารธรรมศาสตร์ แต่ไม่มีลำไหนเป็นกันชิป สำหรับผมมันดูจะเป็นได้มากกว่ามีการยิงปืนคาร์ไบน์ลงมาจาก ฮ. เพื่อตอบโต้ปืนที่ยิงจากพื้นดิน แน่นอนที่มีปืนปรากฏในมือของผู้ประท้วงและมันไม่ชัดเจนว่าปืนพวกนี้มาจากไหน แม้ว่าบรรดาร้านปืนที่อยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางเหตุการณ์โดนกวาดของไปจนเกลี้ยง
5. รถถังยิงลูกเปล่าตามคำสั่งของณรงค์
นี่ก็เป็นความผิดจังๆ อีกข้อหนึ่ง เพราะนักศึกษาจำนวนหนึ่งในฝูงชนเป็น รด. และรู้ว่านี่เป็นลูกเปล่า ทำให้พวกเขาใช้รถสามคันพุ่งชนรถถัง เป็นผลให้รถถังถูกถอนไป แม้ว่าจะยิงขึ้นฟ้าอีกครั้งก็ตาม
นี่ก็ทำให้ฝูงชนคลั่งมากขึ้นอีก
ตำรวจก็หนีกลับเข้าสถานีตัวเอง และในที่ที่เหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดพวกเขาถูกโจมตีไม่หยุด ตำรวจที่ป้องกันกองบัญชาการกลางถูกสั่งให้ป้องกันสถานที่ แต่ห้ามเริ่มยิงไม่ว่าในกรณีไหนๆ
เมื่อเจอคนเป็นพันดาหน้าโจมตีไม่หยุด ตำรวจกลุ่มนี้ก็เห็นคำสั่งที่ว่าคือการสั่งให้ฆ่าตัวตายดีๆ นี่เอง พวกเขาเลยหนีกลับบ้านเสียเลย
อย่างไรก็ตาม มันก็อีกหลายวันก่อนที่พวกเขาจะออกจากบ้าน แม้ตอนนี้พวกเขาก็เข้าทำหน้าที่โดยไม่พกอาวุธ และมาแบบไม่เต็มใจ พวกเขาจะไม่สืบคดีหรือความรุนแรงเพราะเขาไม่มีอาวุธเลย ผู้บังคับบัญชาเองก็พึ่งไม่ได้ ตรงนี้ดูท่าจะกินเวลานานก่อนตำรวจจะกลับมาทำงานได้มีประสิทธิผลเหมือนเก่า
สันติบาลนั้นถูกชี้หน้าตำหนิเป็นพิเศษเรื่องการดูแลสถานการณ์นักศึกษาแต่ต้น พลตำรวจตรีชัย ผู้บัญชาการ ถูกปลด ผมได้ยินนายทหารพูดกันว่าชัยตั้งใจสอบสวน 13 กบฏให้แรงมาก เพื่อจะสร้างปัญหา เพราะเขาเป็นผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ ปรีดี พนมยงค์
เรื่องนี้ฟังแล้วเหลือเชื่อ แต่มันส่อให้เห็นถึงข่าวสารอะไรต่ออะไรที่เราได้ยินทุกวันในช่วงนี้
6.พอกลางวันวันจันทร์ นักศึกษากลับมาคุมตัวเองได้ และเริ่มร่วมมือกับกองทัพเพื่อหวังจะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
การยิงกันยุติลง แต่การขโมยข้าวของยังมีต่อไป พวกก่อกวนจะไปตามพื้นที่บางแห่งแล้วทำลายป้อมตำรวจกับไฟจราจร แม้หลายคนในกลุ่มนั้นจะแต่งตัวให้ดูเหมือนนักศึกษาแต่ไม่ใช่ ทางองค์การนักศึกษาก็บอกว่าไม่เกี่ยวกับการกระทำแบบนี้
ในเมืองไม่มีตำรวจทำงาน แม้ทหารจะเตรียมพร้อมในที่ตั้ง แต่ไม่มีให้เห็นในที่สาธารณะ ทางข่าวกรองทหารบอกว่ากลุ่มทำลายข้าวของนี้มีพวกนักเลง บวกกับพวกสร้างสถานการณ์ของคอมมิวนิสต์ที่เข้ามากรุงเทพฯ
7. ตามแบบไทยๆ ก็มีการประกาศหยุดราชการ 3 วัน และความตึงเครียดของสถานการณ์ก็ถูกถอดชนวนออกไป
เมื่อวานมีเหตุสำคัญที่จะทดสอบทัศนะของนักศึกษา คือ วันนั้นเป็นวันปิยมหาราช ซึ่งนักศึกษาจะมาถวายบังคมพระบรมรูปของพระปิยมหาราช ซึ่งทรงเป็นวีรบุรุษในใจของนักศึกษาอยู่
ปรากฏว่าวันนั้นทุกอย่างเป็นไปโดยสงบและไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย
8. เห็นได้ชัดว่านักศึกษาถูกคัดท้ายด้วยมือที่มากประสบการณ์ให้ไปเผชิญหน้ากับรัฐบาลในที่สุด การจัดระบบของพวกเขามีประสิทธิภาพมาก ว่าที่จริงดีกว่ารัฐบาลเสียอีก แทบจะเชื่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่านักการเมืองเก่าๆ ที่ไม่ชอบใจรัฐบาลเก่ายื่นมือเข้าช่วย แต่นี่เป็นแรงหนุนเดียวที่นักศึกษาจะมีหรือเปล่า? ข่าวกรองทหารเชื่อว่าคอมมิวนิสต์มีส่วน ซึ่งผมจะนำเสนอในย่อหน้าต่อๆ ไป
9. พระเจ้าอยู่หัวทรงขยายภาพลักษณ์ของพระองค์ให้ใหญ่โตขึ้นมาก จากการการวางพระองค์ที่น่าชื่นชม กับการทรงจัดการกับสถานการณ์นี้
ทางกองทัพบกประกาศว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป
ดูท่าจะมีการยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ บอกว่ากองทัพจะไม่ทำรัฐประหารอีกแล้ว ถ้าปรากฏว่ารัฐบาลใหม่ทำงานได้มีประสิทธิภาพ
พิสูจน์ว่าคุมนักศึกษาได้ หลีกเลี่ยงการนำการเมืองไปแทรกแซงกองทัพ และนำเสนอรัฐธรรมนูญที่รับได้ ผมไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมกองทัพจะไม่หนุนต่อไปเรื่อยๆ มันแทบจะเห็นได้ชัดมากว่าพวกไม่ประมาณตัวที่ต้องการอำนาจการเมืองในไทยส่วนใหญ่ให้ตัวเองได้ประโยชน์ ก็จะวิ่งเต้นเอาตำแหน่งและซื้อเสียงเพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งใหญ่ที่สัญญาว่าจะมีในปีหน้า
ถ้ารัฐบาลเลือกตั้งชุดใหม่ทำตัวไร้สมรรถภาพ มันก็คงมีโอกาสมากที่กองทัพจะตัดสินใจเข้ายึดอำนาจอีกครั้ง
10.พันเอกณรงค์อายุแค่ 39 เท่านั้น เขาเป็นคนไฟแรง, ไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว, อัตตาธิปไตย และทะเยอทะยานสูงมาก
กองทัพบกไม่เชื่อว่าเขาจะเกษียณถาวรที่ไต้หวัน ข่าวกรองทหารประเมินว่าไม่นานเขาจะระดมแรงสนับสนุนให้ตัวเอง และหาทางยึดอำนาจแม้โอกาสสำเร็จจะน้อยมาก เขาอาจจะตั้งองค์การบางอย่างแถบชายแดนไทย โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนที่ยังภักดีต่อไป
การทำอย่างนี้เขาจะต้องเลือกประเทศพักพิงให้ดี เพราะจะเสี่ยงทำลายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลไป
ก่อนหน้าการออกนอกประเทศอย่างไร้เกียรติครั้งนี้ ณรงค์ทำธุรกิจ (---) กับผู้นำก๊กมินตั๋ง หรือ เคเอ็มที บางคนทางภาคเหนือของไทย มันก็คิดได้ว่าเขาอาจจะตั้งฐานกับพวกเคเอมทีถึงมันจะเป็นเรื่องเขลาที่เคเอ็มทีรับณรงค์ไว้ก็ตาม
เพราะเท่ากับก่อกวนความสงบของประเทศที่พวกเขาเป็น "แขก"
11. หลาย 10 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนทหารราบทั่วพระราชอาณาจักร และเครือจักรภพของเรา ยกเอาตัวอย่างการสลายการชุมนุม ของพลเอกไดเออร์ ที่วิหารทองคำในเมืองอัมริทสา เป็นตัวอย่างที่ควรจำเกี่ยวกับสิ่งไม่พึงปฏิบัติในการรับมือกับฝูงชนที่ไม่เป็นมิตร
ไม่กี่วันก่อน กรุงเทพฯ ก็ให้ตัวอย่างใหม่ที่เราจะยกมาพูดถึงในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ มีความเด่นของมันจนทำให้เรื่องของพลเอกไดเออร์ตกไปอยู่ในชั้นอนุบาลทีเดียว
ก. ไม่มีการสนธิการบังคับบัญชารักษาความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพฯ ตำรวจ ทหารบก กับพลเรือน ไปกันคนละทางโดยไม่มีการประสานงาน เห็นได้ชัดว่าเมื่อจอมพลประภาสตั้งลูกเขย เท่ากับเขาแทรกแซงสายการบังคับบัญชาปกติในกองทัพบก อย่างที่แก้ตัวไม่ได้ ผลคือไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะทำอะไรแน่
ข. ไม่มีแผนคุมฝูงชน
ค. ทหารกับตำรวจไม่เคยรับการฝึกเรื่องหน้าที่รักษาความสงบภายใน
ง. แก๊สน้ำตาถูกใช้กวาดรวมไปหมด
จ. ถ้ามีการสั่งการเกี่ยวกับการเริ่มยิง ดูเหมือนจะไม่มีใครเข้าใจว่ามีการสั่งว่าอะไร
ฉ. มันเป็นความผิดมหันต์ที่นำรถถังไปใช้อย่างที่เกิดขึ้น และการยิงลูกเปล่ายิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น
ช. หลักพื้นฐานห้าข้อที่ทหารควรยึดไว้เมื่อเข้าช่วยพลเรือนไม่ได้รับการคำนึงถึงเลย
12.ทุกคนเกิดความกลัวซึ่งน่าจะช่วยผลักดันผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ทำการอย่างระวังมากขึ้นในอนาคต เมื่อต้องรับมือกับเจรจาในเรื่องรัฐบาล เพื่อเลี่ยงการนองเลือดครั้งใหม่
อำนาจรัฐที่เหลือตอนนี้ดูเปราะบางและนักศึกษากับคนอื่นๆ ต้องยึดขันติเพื่อประกันว่ารัฐบาลชั่วคราวนี้จะอยู่รอด ปกติคนไทยมีนิสัยอดทนอยู่แล้ว ทำให้มีความหวัง แต่ที่ซุ่มรออยู่หลังฉากคืออันตรายจากความอยากจะล้างแค้น, ความหวังของคนไร้ยางอายที่ต้องการใช้สถานการณ์ปัจจุบันเพื่อหาประโยชน์เข้าตัว, ความระแวงระหว่างทหารกับพลเรือน
และที่ร้ายกาจที่สุด คือ ความเป็นไปได้ที่คอมมิวนิสต์อาจจะเอาปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมด เพื่อพยายามทำลายขื่อแปของบ้านเมืองอีกครั้ง
บางทีวัฒนธรรมไทยกับสถาบันกษัตริย์อาจช่วยเชื่อมประชาชนเข้าด้วยกันเพื่อต้านปัจจัยลบเหล่านี้ ในช่วงที่พวกเขากำลังพยายามสร้างสังคมแบบใหม่ขึ้น
อีกทางหนึ่ง นายพันเอกกองทัพบกผู้เข้าอกเข้าใจอะไรดีและเข้าใจโลกดีพอที่ผมรู้จักมาห้าปีบอกกับผมเมื่อสองคืนก่อนว่า "ผมเชื่อว่าประเทศนี้ไม่มีวันสงบโดยไม่เกิดนองเลือดอีกครั้ง แต่เราก็ไม่อยากได้ประภาสกับพวกกลับมาอีก"
17. ตามที่ผมพูดไว้ตอนต้นรายงาน กองทัพบอกว่าผู้สร้างสถานการณ์จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. เป็นคนนำนักเลงเข้าทำลายสถานที่และทรัพย์สินทางการ อย่างน้อยก็เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม
18. กรุงเทพฯ เป็นนครเปิดกว้างที่ใครๆ ก็เข้าได้จากเกือบทุกทาง แม้ว่าจะมีด่านกั้นถนนของทหารอยู่รอบตามทางหลัก มันก็ง่ายเหลือเกินช่วงวุ่นวายที่คนของ พคท. จะเดินเท้าเข้าเมือง
กองทัพบกเชื่อว่าเมื่อบ่ายวันอังคารที่ 16 ตุลาคม ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กลุ่มหนึ่ง บางทีจะประมาณ 20 คน เข้ากรุงเทพฯ พร้อมอาวุธเถื่อนเพื่อหวังว่าจะเข้ามานำการปฏิวัติของนักศึกษา
อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ผิดหวังเมื่อเห็นว่าความวุ่นวายสลายตัวและไม่มีใครพร้อมจะฟังพวกเขา ดังนั้น พวกเขาเลยแยกตัวและลง "ใต้ดิน" การโฆษณาชวนเชื่อหลักตลอดสองสามปีที่ผ่านมาที่ทาง พคท. ใช้ปลุกระดมประชาชนให้เข้าเป็นพวกคือเป้าหมายการล้มรัฐบาลทุจริตของถนอมกับประภาส การโฆษณาชวนเชื่อนี้ได้ผลในการชี้ชวนผู้รับเคราะห์ในชนบทให้เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เห็นใจพวกเขา
อยู่ดีๆ พวกคอมมิวนิสต์ก็พบว่านักศึกษาทำสำเร็จโดยไม่ได้ความช่วยเหลือจากคอมมิวนิสต์เลย ทำให้คอมมิวนิสต์ขาด "แนวนโยบายหลัก" ไปในทันที
เพราะตอนนี้ไม่มีโฆษณาชวนเชื่อที่จะทำให้คนเชื่ออีกต่อไป มันก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่คนไทยจำนวนมากที่เข้าร่วมกับ พคท. เมื่อได้ยินว่า ถนอมประภาสหนีไปแล้ว อาจจะเห็นว่าสมควรออกจากป่ามาสู่หมู่บ้านของตัวเองได้แล้ว
รัฐบาลเข้าใจข้อนี้และทางศูนย์สู้คอมมิวนิสต์กำลังเตรียมปฏิบัติการจิตวิทยาที่จะใช้สถานการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์
น่าเสียใจที่พวกเขาออกจะเริ่มช้าไปและการสื่อสารแย่จนอาจจะผิดเป้าหลายเป้าไปได้ แต่ที่จะทำแน่คือ ข้อเสนอที่จะโปรยใบปลิวในพื้นที่ป่าในช่วงสองสามวันต่อไปนี้ มันเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ที่ผมเพิ่งอธิบายไปเมื่อครู่เป็นผลให้กลุ่ม ผกค. ที่เข้ากรุงเทพฯ พบว่าตัวเองแทบไม่ได้รับการสนับสนุนเลย
เมื่อพวกเขาพบว่าไม่มีแนวคิดที่จูงใจอีกต่อไปก็เลยเห็นว่าสลายตัวไปจะดีกว่า บางทีการปฏิวัติของนักศึกษากับผลที่ได้อาจจะเป็นโชคในเคราะห์สำหรับการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
หน้า 25
"ข้อมูลใหม่" ถนอม-ประภาส ขอลี้ภัยใน "อังกฤษ
รายงานพิเศษ "โธไรยสยามรัฐ" แปลและเรียบเรียง มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1315
โทรเลข 1
ลับที่สุด
ลับที่สุด
ถึง โทรเลข ก.ต. 1296 ของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2516 ถึง กรุงเทพฯ ด่วน
ครอบครัวกิตติขจร
ศุลกากรที่ไคตั๊กเมื่อคืนพบกระเป๋าเอกสารไม่มีเจ้าของเมื่อตรวจแล้วพบว่าเป็นของนาย ฮาร์วี่ย์ ตอย ผู้จัดการใหญ่ของการบินไทยในไต้หวัน ข้างในกระเป๋ามีหนังสือเดินทางไทย 10 เล่ม และ จดหมายถึงผู้อำนวยการตรวจคนเข้าเมืองที่นี่โดย พันเอกณรงค์ กิตติขจร ผู้บอกว่าเคยเป็นรองเลขาธิการ กตป. รัฐบาลไทย (เห็นชัดว่านายตอยมาถึงฮ่องกงจากไทเปเมื่อบ่ายวานนี้ และ กลับฮ่องกงค่ำวันเดียวกัน) ตอยติดต่อผู้อำนวยการตรวจครนเข้าเมืองและอธิบายว่าเขามาฮ่องกงเพื่อจะมอบจดหมายให้กับผู้อำนวยการ เขาบอกว่าการประท้วงสถานทูตไต้หวันที่กรุงเทพฯ ทำให้รัฐบาลไต้หวันลำบากมากที่จะให้ที่พักพิงกับณรงค์และครอบครัว
2. ในจดหมาย (สำเนาแล้ว) ณรงค์ขอลี้ภัยการเมืองชั่วคราวในอังกฤษให้ตัวเขากับสมาชิกในครอบครัวดังนี้
2.1 จอมพลประภาส จารุเสถียร หนังสือเดินทางเลขที่ D 05175 รองนายกรัฐมนตรีและพ่อตาของ 2.3
2.2 ท่านผู้หญิงไสว จารุเสถียร หนังสือเดินทางเลขที่ D 06101 ภริยาของ 2.1
2.3 พันเอกณรงค์ กิตติขจร หนังสือเดินทางเลขที่ C 35163 บุตรเขยนายกรัฐมนตรี
2.4 นางสุภาภรณ์ กิตติขจร หนังสือเดินทางเลขที่ C 35164 ภรรยาของ 2.3 และ บุตรสาวของ 2.1
2.5 เด็กชาย เกริกเกียรติ กิตติขจร หนังสือเดินทางเลขที่ E 01337
2.6 เด็กชาย กรกาจ กิตติขจร หนังสือเดินทางเลขที่ E 35165
2.7 เด็กชายกิจก้อง กิตติขจร หนังสือเดินทางเลขที่ E 01339
2.8 นางสาวกรองกาญจน์ กิตติขจร หนังสือเดินทางเลขที่ E 01340 หมายเลข 2.5 2.6 2.7 และ 2.8 เป็นลูกของ 2.3
2.9 นาวาเอกหญิง สุมิตรา จารุเสถียร หนังสือเดินทางเลขที่ C 35173 บุตรสาวของ 2.1
2.10 นางสาวเอื้อมมณี มันทลุมพะ หนังสือเดินทางเลขที่ H 11255 สถานะไม่ชัดแจ้ง
3.ผมจะขอบคุณมากถ้าท่านให้คำแนะนำว่าควรทำอย่างไร
สำเนาจดหมายขอลี้ภัย
"คําร้องนี้ทำขึ้นเพื่อขอให้ท่านอนุมัติให้ข้าพเจ้าและคณะครอบครัวที่ตามมาได้รับการตรวจลงตราเข้าเมือง ข้าพเจ้าขอแนะนำตัวเอง ข้าพเจ้าชื่อ พันเอกณรงค์ กิตติขจร แห่งกองทัพบกไทย อดีตรองเลขาธิการ กตป. และ บุตรของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย จอมพลถนอม กิตติขจร ในขณะนี้ คนในครอบครัวข้าพเจ้าและข้าพเจ้าต้องออกจากประเทศไทยชั่วคราวเพราะเรื่องการเมือง ดังนั้นคนในครอบครัวข้าพเจ้าและข้าพเจ้าต้องขอลี้ภัยการเมืองในประเทศที่จะให้เราอยู่อย่างสงบ
เหตุผลที่ เราเลือกอังกฤษเพื่ออยู่ในระหว่างลี้ภัยการเมืองนั้นมีดังนี้
1. ข้าพเจ้าศึกษาในอังกฤษอยู่สี่ปี และสำเร็จการศึกษาจาก วิทยาลัยหลวงการทหารแซนด์เฮิรส์ทเมื่อ 28 กันยายน 1955
2. ครอบครัวของเราซื้อบ้านใน Southborn, Bornemouth, Hants เลขที่ 130 Seafield Road เราซื้อบ้านหลังนี้เมื่อ 15 ปีก่อน และ เรายังเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้
3. อังกฤษเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่และเราคิดว่าจะให้เรามีความสงบมากกว่าที่อื่น
4. อังกฤษจะให้ลูกข้าพเจ้าได้รับการศึกษาดีกว่าที่อื่น
จากเหตุผลข้างต้น เราต้องการอยู่ในอังกฤษระหว่างลี้ภัยการเมือง ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้ขอร้องให้ท่านพิจารณาคำร้องของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะกรุณาอนุมัติลงตราคนเข้าเมืองที่จำเป็นให้ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าได้แนบหนังสือเดินทาง รูปถ่ายและรายชื่อของคนในครอบครัวมาด้วยแล้ว
โทรเลข 2
ลับสุดยอด
ลับสุดยอด
ถึง ก.ต. ด่วน โทรเลข 511 ของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2516 และส่งซ้ำให้ฮ่องกง
โทรเลขหมายเลข 503 ของข้าฯ เรื่อง ครอบครัวของประภาส และ ณรงค์
1. ข้าฯ ได้กราบบังคมทูลเรื่องวุ่นวายนี้ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้ว พระองค์ทรงสนพระทัยอย่างมากที่สุดแต่เป็นไปตามคาดคือ พระองค์ไม่ทรงแสดงทัศนะใดๆ ว่าเราควรทำอย่างไร
2. อย่างไรก็ตาม พระองค์ตรัสว่า "ข้อหา" ที่มีต่อณรงค์กับประภาสนั้นไม่ได้เกี่ยวพันอยู่เฉพาะตรงเหตุการณ์ 14 กับ 15 ตุลาคมเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับ "เรื่องไม่ดี" (Bad things-- ต้นฉบับ) ที่ทั้งคู่ทำไว้ในช่วงรับราชการ ตามที่ท่านทราบข้อหาที่มีต่อสองคนนี้คือ ทุจริตอย่างมโหฬาร, บีบบังคับงานราชการให้ทำเพื่อสนองประโยชน์ส่วนตัว, และ ที่เด่นในกรณีณรงค์คือเกี่ยวพันอย่างล้ำลึกหรืออาจถึงขั้นควบคุมการขนยาเสพติด
3. โทรเลขของท่านถึงฮ่องกงเลข 954 เรื่องวีซ่าบ่งชี้เหมือนว่าท่านไม่ ย้ำ ไม่ต้องการให้คนกลุ่มนี้เหยียบแผ่นดินอังกฤษ ข้าฯ หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ว่าท่านจะตัดสินใจอย่างไรอีกไม่นานข้าฯ ต้องแจ้งให้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไทยทราบ เพราะยิ่งความไม่แน่นอนเรื่องเจตน์จำนงของเราลากยาวไปเท่าไร อันตรายที่เรื่องนี้จะรั่วไหล และทำให้เกิดข่าวกระพือโทสะยิ่งมีมากเท่านั้น ข้าฯ คงแทบจะไม่จำเป็นต้องเสริมว่าถ้าท่านตัดสินใจให้คนกลุ่มนี้ลี้ภัยแล้ว เราที่นี่ต้องเผชิญหน้ากับคำตำหนิอย่างแรงจากสื่อมวลชนกับประชาชนแน่นอนแม้รัฐบาลไทยน่าจะดีใจลึกๆ ที่ประภาสกับณรงค์พบที่พักที่ไกลจากไทยมากกว่าไต้หวันหลายเท่านัก
เดอร์ ลา แมร์
(ทูตอังกฤษประจำไทย-- ผู้แปล )
โทรเลข 3
ลับสุดยอด
ลับสุดยอด
ถึง ก.ต. ด่วน โทรเลข 515 ของวันที่ 9 พฤศจิกายน 2516 และส่งซ้ำให้ฮ่องกง
โทรเลข 460 ของท่าน เรื่องครอบครัวประภาสและณรงค์
1. ข้าฯ ได้ทำการตามที่แจ้งในย่อหน้า 1 ของโทรเลขท่าน
2. ข้าฯ เข้าใจว่าอย่างไรก็ตาม วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยรับฟังได้ตอน 0045 เวลามาตรฐานกรีนิช (7.45 น. กรุงเทพฯ-ผู้แปล ) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน บอกว่า โฆษกของกระทรวงต่างประเทศออกคำแถลงว่าถึงแม้ทางรัฐบาลอังกฤษ จะไม่รับคำขอลี้ภัยของณรงค์กับประภาสแต่พวกเขายังเข้าอังกฤษได้ในฐานะนักท่องเที่ยว
3. ข้าฯ จะยินดีมากที่จะได้ทราบคำอธิบายเรื่องนี้ ถ้ามีการออกคำแถลงนี้ จริงมันดูจะขัดแย้งอย่างจังกับประโยคสุดท้ายของโทรเลขก่อนหน้านี้ของท่านที่เราใช้อ้างอิงซึ่งตอนนี้มีคนถามข้าฯ เรื่องนี้ไปแล้ว ถ้าคำแถลงจะบอกว่าผู้เกี่ยวข้องจะได้รับอนุญาตให้ผ่านอังกฤษเพื่อเดินทางต่อไปยังที่อื่นเราก็สมควรจะทำให้มันกระจ่าง แต่ถ้าความหมายจริงๆ ก็คือสิ่งที่ได้ฟังจากข่าวข้าฯไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงแสดงน้ำใจเสนอให้พวกเขาขอวีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งมันจะตรงกับที่โทรเลขของท่านพูดไว้ไม่ผิดเพี้ยน ทางเราที่นี่ร้อนใจที่จะไม่ ย้ำ ไม่ทำอะไรที่จะก่อให้เกิดความหวาดระแวงขึ้นที่นี่ ข้าฯ เสียใจถ้าข้าฯดูเหมือนจะโวยวายเรื่องนี้มากแต่ข้าฯ ขอย้ำว่าเรื่องนี้มีโอกาสกลายเป็นพายุใหญ่ได้ง่ายๆ
เดอ ลา แมร์
หน้า 28
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น