My pix

My pix

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

นิวส์วีค: จบสิ้นแล้ว ยี่ห้อประเทศไทย

The End of Brand Thailand
June 04, 2010
by Joshua Kurlantzick
ที่มา – Newsweek 
http://www.newsweek.com/2010/06/04/the-end-of-brand-thailand.html#
แปลและเรียบเรียง – แชพเตอร์ ๑๑
การบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพ และความผิดพลาด เปลี่ยนให้ความเป็นดั่งสวรรค์แห่งประชาธิปไตยที่ให้ผลตอบแทนสูง กลับกลายเป็นเมืองด้อยค่าอันเต็มไปด้วยความรุนแรง
เป็นเวลาหลายปีที่ประเทศไทยมีภาพพจน์เปรียบดังสวรรค์: มีประชาธิปไตยที่เบ่งบาน พร้อมกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ซึ่งให้การปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอัตราผลตอบแทนในการลงทุนสูงที่สุดในโลกเพียงไม่กี่ประเทศในทศวรรษที่ ๘๐(พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๓๓) และต้นทศวรรษที่ ๙๐ (พ.ศ.๒๕๓๓) ทนทานต่อวิกฤติฟองสบู่แตกของเอเชียในปลายทศวรรษ ๙๐ และเศรษฐกิจเติบโตถึงร้อยละ ๕.๓ ในปี ๒๕๔๕ และเติบโตมากกว่าร้อยละ ๗ ในปีต่อมา เมื่อเริ่มเกิดการฟื้นตัวจากวิกฤติ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างติดใจในภาพลักษณ์ของราชอาณาจักรซึ่งสงบ เต็มได้ด้วยหาดทรายที่ร้อนแรง และภูเขาสูง ผู้คนที่อบอุ่น และการเมืองที่มีเสถียรภาพ – “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม” นี้สร้างความน่าหลงใหล ดึงดูดนักท่องเที่ยวในแต่ละปีมากกว่า ๑๓ ล้านคน ส่วนหนึ่งที่ต้องขอบคุณคือการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ “อะเมซิ่งไทยแลนด์” – ด้วยภาพวัดที่อลังการ และผู้หญิงงามอย่างน่าตะลึง – กรุงเทพถูกเลือกจากผู้อ่านนิตยสารท่องเที่ยวและพักผ่อน (Travel + Leisure) และคอนเดอนาสท์ เทรเวิลเลอร์ (Condé Nast Traveler) ให้เป็นอันดับหนึ่งของเมืองที่ดีที่สุดแห่งเอเชีย
แล้วเวลานี้ล่ะ ยี่ห้อประเทศไทยกำลังป่นปี้ สองเดือนที่ผ่านมา การปะทะในกรุงเทพระหว่างกองกำลังความมั่นคง และผู้ประท้วงในชุดเสื้อแดง สังหารผู้คนอย่างน้อย ๘๐ ศพ การทำลายบางองค์กรซึ่งมีความสำคัญที่สุดทางเศรษฐกิจที่อยู่ในกรุงเทพ รวมถึงตลาดหุ้น และศูนย์การค้าใหญ่ที่สุด และทำลายภาพลักษณ์แห่งสันติ และความสงบ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจหลัก ทำรายได้มากถึงร้อยละ ๘ ของจีดีพี กำลังจะหมดลมหายใจ ในขณะที่ประเทศคู่แข่งเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา และสิงคโปร์กำลังพยายามแย่งนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย ชาติซึ่งครั้งหนึ่งเคยผงาดเสมือนเสือแห่งเอเชีย หรือเสือที่กำลังโต รวมถึงเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นซึ่งกำลังตกต่ำ ครั้งหนึ่งเคยเป็นชาติที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่เวลานี้ถูกมองว่าเป็นประเทศที่ไม่สามารถจะปกครองได้ และเป็นรัฐที่กำลังล่มสลาย นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะดูเหมือนกระตือรือร้นที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งหลังสุดทั้งสองครั้งนั้นก็ต้องพับฐานไปจากวิธีการที่ไร้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตย ในรายงานประจำปี ๒๕๕๓ ของฟรีดอมเฮ้าส์ (Freedom House) ให้ราคาประเทศไทยเพียงแค่ “กึ่งเสรี” และจัดให้อยู่ในอันดับเดียวกับรัฐบาลป่าเถื่อนทั้งหลายต่อความเสมอภาคทางการเมือง เช่น พม่า เป็นต้น เมื่อปี ๒๕๔๓ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สดุดีประเทศไทยที่ยอมให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี และการส่งผ่านอำนาจอย่างสันติ แต่เวลานี้บันทึกมีแต่เหตุการณ์เข่นฆ่ากันโดยไร้กฎหมาย และการจำกัดเสรีภาพในทางการแสดงออก และการชุมนุม
ส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้เป็นผลมาจากความคับแค้นใจในทางการเมือง และในทางเศรษฐกิจที่มีมาเนิ่นนาน ถึงขั้นกลายมาเป็นเหตุให้เกิดการจลาจลในเมืองหลวง ฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท ลุกขึ้นมาต่อต้านชนชาวกรุงเทพ และพวกมั่งคั่งผู้ที่คุมบังเหียนอภิสิทธิ์ การเกิดการแตกแยกอย่างรุนแรงทั้งทางภูมิภาค และทางชนชั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเกิดการล่มสลายในที่สุด ในทศวรรษที่ผ่านมาผู้นำไทยทั้งหลาย คล้ายกับผู้บริหารของบริษัทซึ่งสูญเสียยุทธศาสตร์การค้าให้กับคู่แข่งที่กำลังมาแรง มีการตัดสินใจที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถูกประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม จีน และแม้กระทั่งอินโดนีเซียทิ้งห่างอย่างไม่เห็นฝุ่น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกาะกลุ่มกันมา
หนึ่งในความผิดพลาดคือ ความล้มเหลวในการวางแผนระยะยาว ในระหว่างปีแห่งความรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ของอภิสิทธิ์ หรือ พรรคไทยรักไทยของทักษิณ ซึ่งเข้ามามีอำนาจในปี ๒๕๔๔ ต่างไม่เคยลงทุนทำการยกเครื่องระบบการศึกษาที่ล้าหลัง ซึ่งเน้นแต่เพียงพื้นฐานการเรียนรู้ และการท่องจำอย่างนกแก้วนกขุนทอง ไต้หวัน สิงคโปร์ จีน และอินเดียต่างมุ่งลงทุนในระดับอุดมศึกษา ใช้ภาษาอังกฤษ สร้างความชำนาญด้วยทักษะขั้นสูง ผลที่ตามมาเกิดการสร้างบริษัทที่มีวัตกรรมยอดเยี่ยมตามแนวโน้มของโลก และเกิดอุตสาหกรรมที่ใช้ภาษาอังกฤษขนาดยักษ์มีการว่าจ้างงานจากบริษัทภายนอก แต่รัฐบาลไทย และกลุ่มธุรกิจหลักยังคงรวมกลุ่มเป็นได้แค่เพียงผู้ผลิตมูลค่าต่ำของบริษัทต่างชาติ รัฐบาลไทยประสบความล้มเหลวในการสร้างสิทธิประโยชน์ต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยให้บริษัทไทยปรับปรุงพลังการผลิต เพื่อจะได้มีการขยายตัวออกไปทั่วโลก ซึ่งต่างจากรัฐบาลจีน หรือรัฐบาลสิงคโปร์ ตามประวัติแล้ว เครือข่ายบริษัทขนาดใหญ่ของไทยได้รับการปกป้องจากเส้นสนกลในกับผู้นำรัฐบาลต่างๆ และคลานต้วมเตี้ยมกว่าจะรับรู้ถึงคู่แข่งระหว่างชาติที่เป็นของจริง แม้ประเทศไทยจะลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆก็ตาม
ความผิดพลาดที่เห็นได้ชัด ในขณะนี้ คะแนนในการสอบโทเฟลของประเทศไทย ซึ่งเป็นการสอบทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนก่อนที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่มหาวิทยาลัย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอันดับต่ำสุดของเอเชีย ไม่มีบริษัทเจ้าของคนไทยใดๆจะโดดเด่นขึ้นมาเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่างเอเซอร์ของชาวไต้หวัน หรือบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่างอินโฟซิสของคนอินเดีย และในขณะที่จีนเขมือบความเป็นผู้ผลิตสำหรับตลาดล่าง บริษัทไฮเทคต่างมองผ่านประเทศไทย อินเทลสร้างโรงงานประกอบชิปมูลค่า ๓,๕๐๐ ล้านบาทในเวียดนาม ประเทศซึ่งครั้งหนึ่งในทศวรรษที่ ๘๐ (พ.ศ.๒๕๒๓) และทศวรรษที่ ๙๐ (พ.ศ.๒๕๓๓) เคยตามหลังประเทศไทยอย่างไม่เห็นฝุ่น เมื่อปีที่แล้วข่าวจากเอพีรายงานว่า ผู้ผลิตชาวไต้หวันสัญญาที่จะลงทุนหลายหมื่นล้านบาทในเวียดนาม เปรียบเทียบกับสัญญาที่จะลงทุนเพียง ๗,๐๐๐ ล้านบาทในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนตัวเองให้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าสูงได้ และขาดความสามารถที่จะใช้งบประมาณของรัฐเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินของโลกได้ อัตราการเติบโตในสี่ปีที่ผ่านมาได้ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย จากร้อยละ ๕.๒ ในปี ๒๕๔๙ เหลือเพียงร้อยละ ๒.๕ ในปี ๒๕๕๑ และเมื่อปีที่แล้วถึงขั้นติดลบร้อยละ ๒.๓
ในขณะเดียวกัน ผู้นำไทยไม่เลือกคิดที่จะสงวนสถานที่สำคัญซึ่งเป็นแรงดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์กลับออกกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด และแม้กระทั่งในประเทศอุตสาหกรรมหนักอย่างเกาหลีใต้ ลี เมียง บัค อดีตนายกเทศมนตรีกรุงโซล และประธานาธิบดีคนปัจจุบันยังควบคุมการปลูกต้นไม้หลายล้านต้นรอบเมืองหลวง และการชะล้างแม่น้ำสายหลักในนครหลวง ประเทศไทยยอมให้แหล่งมหัศจรรย์ตามธรรมชาติแห่งแล้วแห่งเล่าถูกพัฒนาจนเกินเลยไปด้วยสถานที่พักตากอากาศ และคอนโดสูง ลดค่าองค์ประกอบสำคัญของยี่ห้อประเทศไทยเสียสิ้น ในรายงานปี ๒๕๕๑ จากนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สำนักงานใหญ่วอชิงตัน มองเกาะภูเก็ตของประเทศไทยซึ่งในอดีตเคยเป็นสถานที่ตากอากาศระดับหรู และพบว่า “เสน่ห์ดั้งเดิม ที่ว่าเป็นเกาะปลายทางซึ่งงามอย่างน่าประทับใจ พร้อมด้วยธรรมชาติ และเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรม ได้อันตรธานหมดสิ้นไปเสียแล้ว”
ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้นำไทยทั้งหลายต่างประสบความล้มเหลวอย่างน่าสังเวชที่จะรักษาไว้ซึ่งความสันติ ครั้งหนึ่งนักการเมืองไทยดูเหมือนจะมีเคล็ดลับพิเศษในการสมานฉันท์ หลังการปะทะระหว่างกองทัพ และผู้ชุมนุมในกรุงเทพเมื่อปี ๒๕๓๕ ทั้งสองฝ่ายต่างล่าถอย ยอมให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล นำประชาธิปไตยกลับคืนมา ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว หลังจากทักษิณได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในปี ๒๕๔๔ และ ๒๕๔๘ ผู้บริหารอย่างเบ็ดเสร็จก่อนที่จะเข้าสู่สังเวียนการเมืองคนนี้ เริ่มบริหารประเทศไทยอย่างบอสใหญ่ ทักษิณโจมตีความเป็นอิสระที่ควรคงไว้ขององค์กรต่างๆ เช่น ศาล ข้าราชการ และธนาคารแห่งประเทศไทย และโฆษณาความคลั่งเจ้าของเขา และใช้การปราศรัยในที่สาธารณะตำหนิองค์กรเหล่านี้ ซึ่งเคยช่วยร่วมสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยมานานนับปี การตอบโต้จากฝ่ายค้านยิ่งเพิ่มความเสื่อมเสียให้กับองค์กรเหล่านี้หนักเข้าไปอีก แทนที่จะต่อสู้กันในสนามเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านทั้งหลายต่างเรียกร้องให้มีการชุมนุมประท้วง ซึ่งในที่สุดเป็นชนวนให้เกิดการทำรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ บังคับให้ทักษิณต้องลี้ภัย
ประเทศไทยผ่านการทำรัฐประหารมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะยุติลงด้วยการสมานฉันท์ แต่ไม่ใช่ครั้งนี้ เมื่อรัฐบาลฝ่ายนิยมทักษิณได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้งในปี ๒๕๕๐ ผู้ประท้วงต่อต้านทักษิณเสื้อเหลืองปิดตายกรุงเทพ; หลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้นแทนรัฐบาลนิยมทักษิณในปี ๒๕๕๑ เสื้อแดงหลั่งไหลกันออกมาบนท้องถนนเพื่อพยายามที่จะบังคับให้อภิสิทธิ์ลงจากอำนาจ ผลจากสถานการณ์ใกล้วิกฤติที่ไม่รู้จบรู้สิ้น ทำให้เห็นว่าไม่ว่าฝ่ายไหนจะขึ้นมาบริหารประเทศ ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามที่โกรธแค้นก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาระเบิดได้ทุกเมื่อ ยิ่งทำให้การประนีประนอมเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ผู้นำไทยต่างพยายามกุมอำนาจในอุ้งมือของตัวเอง คู่แข่งแถบเอเชียต่างเดินไปทิศทางตรงกันข้าม ในอินโดนีเซีย รัฐบาลได้ถ่ายโอนอำนาจออกจากกรุงจาการ์ต้า เพื่อลดความไม่พอใจของชาวบ้านในท้องถิ่น แม้เผด็จการอย่างจีนยังยอมให้อำนาจอันยิ่งใหญ่ผ่านไปสู่มือเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ในประเทศไทย หลังจากการทำรัฐประหารปี ๒๕๔๙ ผู้นำทหารฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี ๒๕๔๐ และร่างฉบับใหม่ซึ่งให้อภัยโทษกับผู้นำที่ทำการรัฐประหารทั้งหมด วุฒิสภาแทบไม่เหลือความเป็นประชาธิปไตย และพยายามที่จะสยบความวุ่นวายด้วยการยึดกุมอำนาจไว้ในศูนย์กลางที่กรุงเทพ การตัดสินใจเช่นนี้ส่งผลร้ายกลับมา เรื่องแรก ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมได้ขยายตัวออกไปจากที่เคยเป็นอยู่ และเรื่องต่อมา คือการเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงเสื้อแดง ทั้งสองฝ่ายต่างโกรธแค้นต่ออำนาจที่ยิ่งเพิ่มมากขึ้นในกรุงเทพ แต่อภิสิทธิ์ยังคงตั้งหน้าตั้งตาเสริมทัพในกรุงเทพ และในเวลานี้ได้งัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในส่วนบุคคล และยอมให้กองกำลังความมั่นคงเข้าห้ำหั่นผู้ประท้วงอย่างรุนแรง
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังกระเสือกกระสนนั้น หลายฝ่ายต่างหวังว่ากษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช ประมุของค์สำคัญที่สุดแห่งประเทศไทยจะทรงเข้าแทรกแซง กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งทรงใช้พระราชอำนาจอย่างมีผลต่ออำนาจทางการเมือง พระองค์ทรงได้รับการมองว่าดำรงความเป็นกลางมาช้านาน แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เสื้อแดงฝ่ายนิยมทักษิณได้หมดความไว้ใจในพระองค์เสียแล้ว
ยี่ห้อประเทศไทยจะเยียวยาได้ไหม เมืองหลวงอื่นๆ และประเทศอื่นๆซึ่งภาพพจน์เสียหายรุนแรงยิ่งกว่านี้ยังทำการฟื้นฟูเริ่มต้นใหม่ได้ แม้จะต้องใช้เวลาก็ตาม เบลฟาสต์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยหมายถึงการวางระเบิดของขบวนการไออาร์เอ ขณะนี้ได้พัฒนาชื่อเสียงว่าเป็นปลายทางแห่งวัฒนธรรมที่กำลังมาแรง โบโกตา กำลังเริ่มได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบแห่งแผนการปฏิรูปเมือง ขณะนี้โคลัมเบียได้เริ่มควบคุมเส้นทางการลำเลียงยาเสพติดที่เหี้ยมโหดไว้ได้แล้ว แต่ประเด็นสำคัญของไอร์แลนด์เหนือ และโคลัมเบียคือ – มีผู้นำเยี่ยงรัฐบุรุษ – ซึ่งในเวลานี้ประเทศไทยหามีไม่
อภิสิทธิ์เสนอจัดการแก้ปัญหาบางประการที่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประท้วง โดยการเร่งเพิ่มงบประมาณของปีใหม่นี้อีกร้อยละ ๒๐ และทบทวนรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งอาจจะส่งผลให้นำองค์ประกอบบางส่วนของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาใช้ใหม่ แต่แผนการเศรษฐกิจของอภิสิทธิ์นั้นได้คัดลอกบางส่วนมาจากนโยบายประชานิยมของทักษิณ แต่แผนการที่แยกออกมานี้เพื่อกระจายความมั่งคั่งไปสู่ชนบท ยังขาดแผนการอย่างจริงจังที่จะปฏิรูประบบการศึกษา ฟื้นฟูศักยภาพในการแข่งขันของไทย หรือปรับปรุงสภาพแวดล้อม
อภิสิทธิ์ดูเหมือนว่ายังไร้ความสามารถที่จะปฏิบัติการใดๆเพื่อลดอำนาจของกองทัพ และหลังจากการเกษียณอายุของ ผบ.ทบ.ในเดือนกันยายนนี้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่จะขึ้นมาเสียบแทน ได้ขึ้นชื่อว่าปราศจากความปรานีใดๆ และในขณะที่กษัตริย์ทรงประชวร – พระองค์ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว – การฟื้นฟูบทบาทของกษัตริย์ว่าทรงเป็นผู้ไกล่เกลี่ยดูเหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้ และเมื่อปราศจากรัฐบุรุษที่แท้จริงแล้ว การฟื้นฟูยี่ห้อประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นระยะทางอันไกลแสนไกล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น