หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ( วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2545 )
จีน: มหาอำนาจใหม่
ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต
จีน เป็นประเทศเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์มาสี่พันปี มีวัฒนธรรมและอารยธรรมที่ทรงอิทธิพลไปทั่วโลก แม้ราชวังบางแห่งในยุโรปก็มีการสร้างเลียนแบบจีน ที่สำคัญยุคหนึ่งในยุโรปได้มีการพูดถึงจีนในฐานะที่เป็นประเทศที่มีระบบการ ปกครองบริหารและอารยธรรมที่สูงส่ง เช่น ระบบการสอบเข้ารับราชการเป็นขุนนาง เครื่องลายครามซึ่งเป็นศิลปะและเทคโนโลยีขั้นสูง ในยุคที่มาโคโปโลเดินทางไปประเทศจีนนั้นเป็นยุคที่ยุโรปยังล้าหลังกว่า จีนอยู่มาก
แต่ความเจริญรุ่งเรืองของจีนก็มีส่วนทำให้จีนเป็นประเทศ ที่ไม่สามารถจะปรับทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปซึ่งมีผลมาจากการฟื้นฟู ศิลปะวิทยาภายหลังที่อำนาจของพระในศาสนาคริสต์ได้ลดน้อยลง จึงทำให้เปิดทางไปสู่การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ความอิสระในการแสดงความคิดเห็น และการคิดค้นจนนำไปสู่การพบเครื่องทุ่นแรงที่สำคัญคือเครื่องจักรไอน้ำ และต่อมาก็มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมใช้เครื่องจักรแทนคน และหลังจากการค้นพบน้ำมันและไฟฟ้าก็เกิดเครื่องจักรกลที่มีประสิทธิภาพอย่าง มากในการผลิต รวมตลอดทั้งในการนำไปสร้างพาหนะด้วยการเดินทางเริ่มตั้งแต่รถไฟ เรือกลไฟ รถยนต์ เครื่องบิน พร้อมๆ กับปืนไฟหรืออาวุธอันร้ายแรง ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการทำสงครามชนะศัตรู
แต่นอกเหนือจากการค้นพบทาง วิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายดังกล่าวมาแล้ว ความสามารถในการปกครองบริหารและการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งระเบียบสังคม การผลิต ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ การค้า การเมืองในรูปแบบการต่อรอง หลังจากการทำสัญญากฎบัตรใหญ่ หรือแมกนาคาตา ก็นำไปสู่การเปิดกว้างของการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยเริ่มที่ประเทศอังกฤษ และต่อไปก็ขยายไปในที่อื่นๆ จนมาเป็นรูปแบบที่จำลองใกล้เคียงกันในสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันความจำเริญในทางการผลิตและระบบทุนนิยมก็นำไปสู่การค้นหา ทรัพยากร แรงงานและตลาด เพื่อการผ่องถ่ายสินค้าซึ่งนำไปสู่ลัทธิล่าอาณานิคม โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ทางการค้า นอกเหนือไปจากการเผยแผ่ศาสนาของกลุ่มที่มีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า
จีน ไม่สามารถจะตามทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเนื่องจากมีความเชื่อมั่นสูงใน วัฒนธรรมและอารยธรรมของตนเอง ที่สำคัญก็คือ ระบบการปกครองที่มีเหล่าขุนนางและขันทีในวังได้รับประโยชน์ก็พยายามต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงและไม่ยอมรับความคิดระบบวัฒนธรรมและอารยธรรมของฝรั่งผิวขาว ซึ่งจีนเรียกว่า ผีผมแดง ในส่วนนี้จีนมีความแตกต่างจากญี่ปุ่นเพราะญี่ปุ่นมีความรวดเร็วในการปรับตัว เริ่มตั้งแต่สมัยฟื้นฟูเมจิ มีการหันจากเอเชียซึ่งได้แก่จีนและอินเดียไปสู่ยุโรป จนญี่ปุ่นได้ก้าวเข้ามาสู่การเป็นมหาอำนาจเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจ ตะวันตก โดยในปี ค.ศ.1902 ญี่ปุ่นได้รับเกียรติทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ และในปี ค.ศ.1905 ญี่ปุ่นทำสงครามกับรัสเซียและได้รับชัยชนะ ก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นก็สามารถทำสงครามชนะจีนได้ในปี ค.ศ.1894-1895 ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้บ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่สามารถของจีนที่จะปรับ ตัวให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง เนื่องจากความเชื่อมั่นในตนเองสูงโดยมองดูอารยธรรมของฝรั่งในลักษณะของคน เถื่อน ไร้วัฒนธรรม นาฬิกาที่เดินด้วยจักรกลก็มองดูเป็นของเด็กเล่น กว่าจีนจะรู้ตัวก็กลายเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตก มีเขตเช่าต่างๆ ในเมืองใหญ่โดยมีมหาอำนาจตะวันตก 7 ประเทศ รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 8 ที่เข้ามายึดครองบางส่วนของจีน
เมื่อ เหมา เจ๋อตุง ยึดแผ่นดินใหญ่ได้ในปี ค.ศ.1949 ก็ได้ประกาศที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ว่าจีนจะไม่ถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีอีกต่อไป การถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีโดยมหาอำนาจตะวันตกเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1839-1842 เมื่อตอนที่จีนแพ้สงครามฝิ่นจนต้องเสียเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษ นอกเหนือจากค่าเสียหายอย่างอื่น ซึ่งเมื่อนับถึงปีที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนยึดแผ่นดินใหญ่ได้ก็เป็น ระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ จนมีการกล่าวว่าเป็นศตวรรษแห่งการเสื่อมเสียศักดิ์ศรีของประเทศที่มี อารยธรรมมาถึงกว่าสี่พันปี การประกาศของเหมา เจ๋อตุง เป็นการบ่งชี้ถึงความข่มขื่นของประสบการณ์อันเลวร้ายของประชาชนชาวจีน แต่จีนก็ไม่ได้มีความสงบในทางการเมืองเพราะมีภารกิจที่ต้องมีการจัดบ้านให้ เข้าที่ จัดของให้เข้าทาง มีการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมืองในสองระดับ ทั้งระดับความขัดแย้งทางอุดมการณ์และการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกันระหว่าง สองกลุ่ม จนผลสุดท้ายก็จบลงด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งทอดช่วงเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ จนกระทั่งการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อตุง และการสิ้นสุดอำนาจต่อมาของนางเจียงจิงและสหายอีกสามคน จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยกลุ่มของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งมีหลักการว่า หลังจากการยึดอำนาจแล้วก็ควรถึงการพัฒนา ได้มีการประกาศนโยบายเปิดประตูประเทศพร้อมกับสี่ทันสมัย อันได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรม เกษตร และการป้องกันประเทศ ซึ่งหลายคนสังเกตว่ามีลักษณะคล้ายกับการฟื้นฟูเมจิของญี่ปุ่นซึ่งเริ่มในปี ค.ศ.1868 แต่จีนมาเริ่มกว่าสองศตวรรษต่อมา กล่าวอีกนัยหนึ่ง จีนเริ่มต้นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของโลกช้ากว่าญี่ปุ่นกว่า สองศตวรรษ ได้มีการส่งนักศึกษาจีนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ มีการเปิดประตูเพื่อการลงทุนจากต่างประเทศ ปรับปรุงกฎหมายกระบวนการบริหาร เลิกนารวม เปิดให้มีการทำธุรกิจส่วนตัวในระดับหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง จีนพยายามผสมผสานระหว่างการปกครองแบบสังคมนิยมและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และต่อมาก็เริ่มมีการเลือกตั้งในหมู่บ้านแบบอิสระ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนก็คือ จีนพัฒนาอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสองทศวรรษ การผลิตทางเกษตรและอุตสาหกรรมเจริญรุดหน้า เมืองใหญ่ๆ เช่น เมืองเซี้ยงไฮ้ ปักกิ่ง และจุงกิง จะกลายเป็นศูนย์กลางการเศรษฐกิจและการบริหารของจีน การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เกิดชนชั้นใหม่ซึ่งได้แก่ชนชั้นกลางที่มีรายได้อยู่ในระดับถึง 200 ล้านคน อุตสาหกรรมบางส่วนได้ส่งไปขายต่างประเทศเนื่องจากราคาถูก ที่สำคัญก็คือ จีนได้เข้า WTO และจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกหลังจากที่ได้จัดเอเชียนเกมส์อย่างสัมฤทธิ์ ผลมาแล้ว ที่สำคัญที่สุด กระบวนการทางการเมืองของจีนได้ปลอดจากการช่วงชิงอำนาจกันอย่างดุเดือดและ รุนแรง การสืบทอดอำนาจกระทำในกลไกของสถาบัน ผู้นำชั้นใหม่ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่กำลังรับภาระต่อจากผู้นำรุ่นเดิมซึ่งมีความ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศจีนไปสู่การเป็นมหาอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ
จีน มีประชากร 1,300 ล้านคน จีนจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจของหลายประเทศ เฉพาะโทรศัพท์มือถือมีผู้ใช้ถึง 120 ล้านเลขหมาย ขณะที่โทรศัพท์พ้นฐานหรือโทรศัพท์บ้านมี 170 ล้านเลขหมาย และจะขยายตัวไปอย่างไม่หยุดยั้ง ตลาดจีนมีทั้งตลาดบนและตลาดล่าง ในกรณีตลาดบนคนซึ่งมีรายได้พอที่จะจับจ่ายได้อย่างฟุ่มเฟือยก็มีจำนวนเป็น สิบๆ ล้านคน เนื่องจากการสะพัดของเงินตราและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในขณะที่ตลาดล่างซึ่งได้แก่ รถจักรยานยนต์ โทรทัศน์สี วิทยุ เครื่องเสียง ตู้เย็น จักรยาน รถยนต์ เสื้อผ้า เป็นตลาดใหญ่มหึมามีการผลิตเป็นจำนวนมาก จนทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น เสื้อนอกชุดละ 350 บาท หรือที่สามารถจะใส่ไปทำงานอย่างสบายใจชุดละ 700 บาท เป็นต้น
เนื่อง จากความสำคัญดังกล่าวในหลายๆ ด้าน ได้มีความตื่นตัวที่จะศึกษาเรื่องจีนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนภาษาจีน ที่เห็นได้ชัดคือประเทศไทยได้มีสถาบันสอนภาษาจีนเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น ประเทศมาเลเซียซึ่งเดิมห้ามไม่ให้เรียนภาษาจีนเนื่องจากกลัวความสัมพันธ์อัน ตึงเครียดระหว่างคนมาเลย์และคนเชื้อสายจีนได้เริ่มเปลี่ยนแนวคิดและส่งเสริม การเรียนอย่างเต็มที่ จึงไม่แปลกถ้าหากว่าภาษาจีนจะกลายเป็นภาษาที่สำคัญรองจากภาษาอังกฤษ และมีข้อที่สังเกตได้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าของจีน ดังนั้นภายใน 10 ปีนี้จะมีคนอเมริกันศึกษาภาษาจีนอย่างมากมาย ขณะเดียวกันก็จะมีคนจีนจำนวนมากศึกษาภาษาอังกฤษจนสามารถใช้งานได้เป็นอย่าง ดีเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน
จีนเป็นมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองระหว่างประเทศ และในอนาคตจะเป็นมหาอำนาจทางทหาร แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ก็คือ สังคมจีนนั้นเดิมมีความดื่มด่ำในลัทธิขงจื้อแต่ได้คลายความเข้มข้นลงเมื่อมี ลัทธิสังคมนิยมเข้ามาแทนที่ และในขณะนี้ความเข้มข้นของสังคมนิยมก็ลดลง สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่ในอนาคตน่าจะเป็นความรู้สึกชาตินิยมซึ่งก็เป็นเรื่อง ที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากจำนวนประชากรและขนาดอันใหญ่โตของจีน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าทั้งสองมหาอำนาจมีความขัดแย้งกัน ก็จะส่งผลในทางลบต่อความสงบของโลกและภูมิภาค แต่ถ้าทั้งสองมหาอำนาจร่วมมือกันอย่างดีก็ไม่แน่ว่าจะมีผลดีต่อประเทศเล็กๆ
ดัง นั้น จีนจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญในหลายๆ ด้านที่ประเทศต่างๆ ก็คำนึงถึง ขณะเดียวกันจีนก็อยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำในมิติต่างๆ ได้ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และทางทหาร การเป็นมหาอำนาจของจีนจึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น