My pix

My pix

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

“ฝรั่งเศส”: ประวัติศาสตร์การสร้างชาติและอัตลักษณ์

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐที่มีจินตนาการกว้างไกลไร้ขอบเขต หากสิ่งที่มนุษย์สามารถกระทำได้จริง ย่อมขึ้นอยู่กับขีดจำกัดของสภาพแวดล้อมและบริบทแห่งยุคสมัย เราจึงไม่อาจใช้มุมมองในยุคสมัยของเรา ไปตัดสินชี้ขาดการกระทำของบรรพบุรุษได้ทั้งหมด หากต้องรู้จักมองให้ลึกไปถึง “ห้วงขณะ” ที่มนุษย์ในยุคสมัยนั้นกำลังทำการตัดสินใจด้วย
พลังงานและกำลังทรัพย์สินของแต่ละยุคสมัยย่อมมีขีดจำกัด พวกเขาไม่สามารถกระทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ดั่งใจปรารถนา หากต้องเลือกที่จะทำในสิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุด แล้วจึงส่งต่อภารกิจที่เหลือให้ลูกหลานในยุคถัดไปได้ต่อยอด
การสร้างชาติก็เป็นผลผลิตของยุคสมัยหนึ่ง ถึงแม้มนุษย์ในวันนี้จะเดินทางข้ามรัฐข้ามชาติกันเป็นว่าเล่น แต่กระนั้นความรู้สึกร่วมในการเป็น “เพื่อนร่วมชาติ” ก็ยังไม่จางหายไปทั้งหมด นี่คือ ผลผลิตที่บรรพบุรุษได้ส่งต่อให้เรา ในขณะเดียวกันเราก็เริ่มรู้สึกว่าชาติเป็นสิ่งที่กำลังจะพ้นสมัยไป นั่นก็เพราะเราได้ช่วงใช้ประโยชน์จากการเป็นชาติเดียวกันมาหลายร้อยปี จนกระทั่งเราพร้อมที่จะก้าวไปสู่เขตแดนใหม่ ซึ่งก็คือ พลเมืองโลก (Global Citizen)
การเรียนรู้ว่าบรรพบุรุษของเราสร้างชาติอย่างไรจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้นำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างความเป็นพลเมืองโลกของเรา ที่สำคัญ เรายังสามารถเข้าใจทั้งจุดดีและจุดเสียของความเป็นชาติในยุคสมัยเรา เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จากความเป็นชาติที่กำลังล้าสมัยเป็นครั้งสุดท้าย สั่งสมเป็นทุนรอนในการสร้างโลกใหม่ของเรา
“ฝรั่งเศส” เป็นประเทศหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์การสร้างชาติซึ่งน่าสนใจศึกษายิ่ง โดยเฉพาะการพิชิตชัยเหนือคาบสมุทรอิตาลีที่มีความมั่งคั่งและระดับอารยธรรมสูงส่งกว่า ก็เป็นผลผลิตหนึ่งของการสร้างชาติ เพราะพลังของรัฐชาติย่อมสามารถระดมทรัพยากรและไพร่พลได้ดียิ่งกว่านครรัฐที่แตกแยกขัดแย้ง
ชัยชนะในสงครามต่อต้านราชวงศ์แฮปเบิร์กที่ครอบครองดินแดนกว้างใหญ่กว่าหลายเท่า ก็เป็นการสะท้อนความแข็งแกร่งในการสร้างชาติของฝรั่งเศสที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากกว่านั่นเอง
การปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ในปี 1789 ก็เป็นการปรับตัวของกระบวนการสร้างชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากทว่าความพ่ายแพ้สงครามนโปเลียนในปี 1815 ก็เป็นขีดจำกัดของการสร้างชาติ ที่ต้องยอมรับว่าด้อยกว่าพลังแห่งการสร้างชาติแบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ
การสร้างชาติย่อมไม่ใช่ภารกิจที่สำเร็จได้ในชั่วคนเดียว หากต้องใช้เวลายาวนานหลายร้อยปี อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่ “นักสร้างชาติ” ของฝรั่งเศสทุกรุ่นต้องเผชิญร่วมกัน ก็คือ ปัญหาการคมนาคมขนส่งระหว่างพื้นที่อันกว้างใหญ่ที่หลอมรวมกันเป็นประเทศฝรั่งเศส เราจะทำอย่างไรไม่ให้ดินแดนที่ห่างไกลและเต็มไปด้วยความหลากหลาย รู้สึกถึงความเหินห่างและปรารถนาแยกตัวจากไป
ชนชั้นปกครองในยุคนั้น อาจไม่ได้คิดว่าตนเองกำลังสร้างชาติ หากทว่าการต่อสู้ดิ้นรนของกลุ่มผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน ก็ย่อมปรับตัวไปสู่กระบวนการสร้างชาติ เพราะนั่นคือ แนวโน้มแห่งยุคสมัยที่กำลังเกิดขึ้น
ผู้ที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ดีกว่า ย่อมเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด
ในสังคมเกษตรกรรมที่ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ติดอยู่ที่ผืนดิน การสร้างชาติอาจไม่มีประโยชน์คุณค่ามากมายนัก เพราะผลผลิตที่เกิดขึ้นก็เพียงใช้บริโภคกันภายในท้องถิ่น ที่เหลือก็ขนส่งเข้าเมืองหลวงเป็นภาษีอากรและค่าคุ้มครอง บางส่วนก็แบ่งปันให้ช่างฝีมือและศิลปินได้ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ไว้รับใช้ระบบการปกครองของชนชั้นสูงเพียงหยิบมือเดียว
เมื่อยุโรปเริ่มมีการเฟื่องฟูทางการค้าในศตวรรษที่ 11 ผลผลิตที่สร้างได้ในท้องถิ่นหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องจำกัดการบริโภคไว้เพียงภายในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น หากยังสามารถเคลื่อนย้ายไปค้าขายในดินแดนที่ห่างไกลได้อีกด้วย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างชาติในประเทศยุโรปตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากการสร้างจักรวรดิของอารยธรรมโบราณทั้งมวล
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 11-14 การเกิดขึ้นของ “เมืองอิสระ(Bourg)” จำนวนมากในยุโรปตะวันตก ที่มุ่งเน้นสร้างความมั่งคั่งผ่านการค้าขายระหว่างกัน จึงย่อมเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างชาติในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสนับว่ามีปัจจัยที่เอื้ออำนวยที่สุด ในขณะที่ขีดจำกัดบางประการของอิตาลีและเยอรมันกลับทำให้กระบวนการสร้างชาติของสองประเทศหลังนี้ต้องล่าช้าออกไปถึงปลายศตวรรษที่ 19
กษัตริย์ฝรั่งเศสในช่วงรัชสมัยก่อนหน้าการเกิดขึ้นของเมืองอิสระในศตวรรษที่ 11 จึงแทบไม่มีอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงเลย พระองค์ทรงมีสิทธิขาดเฉพาะบริเวณรอบกรุงปารีสเท่านั้น ส่วนดินแดนที่เหลือของฝรั่งเศสกว้างใหญ่ กลับอยู่ในการครอบครองของผู้มีอำนาจตัวจริงนั่นคือ อัศวินและขุนนางแห่งระบอบฟิวดัล ที่เต็มไปด้วยขีดจำกัดของแนวคิดแบบท้องถิ่นนิยม มุ่งเน้นทำสงครามรบพุ่งระหว่างกัน ซึ่งย่อมเป็นภัยต่อการเติบโตของการค้าในระยะยาว


รัชสมัยของพระเจ้าฟิลิป ออกัสตัส (1165 – 1223) พระองค์สามารถขยายเขตแดนของกษัตริย์ฝรั่งเศสจากรอบบริเวณปารีสไปครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จนี้ย่อมมีการเฟื่องฟูทางการค้าและการเติบโตของชนชั้นนายทุนจากเมืองอิสระเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุน
การได้รับและสูญเสียดินแดนของโลกยุคโบราณเป็นเรื่องที่พลิกผันไปมาได้เสมอ หากทว่าสิ่งสำคัญคือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการดินแดนที่ได้รับมาให้มีความจงรักภักดี การใช้อำนาจมากเกินไปย่อมนำไปสู่การต่อต้าน การปล่อยให้ปกครองกันเองก็เป็นอิสระและพร้อมจะหลุดลอยไปได้ทุกเมื่อ
การสร้างระบบราชการที่มีชนชั้นกลางซึ่งได้รับเงินเดือนจากกษัตริย์เป็นผู้ช่วยปกครอง จึงเป็นสิ่งที่พระเจ้าฟิลิปได้เริ่มต้นพัฒนาขึ้นมา เพื่อปกครองดินแดนที่ยึดได้มาอย่างมีประสิทธิภาพเหนือกว่าระบบการปกครองแบบเดิม โดยข้าราชการเหล่านี้จะมีความจงรักภักดีมากกว่าขุนนางท้องถิ่น เพราะมีผลประโยชน์ผูกพันกับกษัตริย์ที่ส่วนกลาง ยิ่งกว่านั้น นโยบายของกษัตริย์ยังไม่เน้นการแทรกแซงระเบียบประเพณีของท้องถิ่นมากเกินไป หากทว่าปล่อยให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีอิสระในการดำเนินชีวิตตามแบบของตน ที่สำคัญยังมีการจัดตั้งศาลของกษัตริย์ขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับศาลของขุนนาง ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการได้รับความเป็นธรรมเพิ่มขึ้นอีกด้วย
การเติบโตของเมืองและการค้าขาย จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างชาติผ่านระบบราชการ เพราะกษัตริย์ที่ร่ำรวยย่อมสามารถจ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ให้ข้าราชการได้อย่างเพียงพอ ซึ่งนำไปสู่แรงจูงใจในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อประชาชนได้รับความเป็นธรรมและระบบการปกครองที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่า ก็ย่อมทำมาหากินได้ดี มีเงินมาจ่ายภาษีให้กษัตริย์ได้มากยิ่งขึ้น
นับจากนี้เป็นต้นไป ไม่ว่ากษัตริย์ที่ขึ้นมาจะเข้มแข็งหรืออ่อนแออย่างไร ชนชั้นขุนนางก็ไม่สามารถขัดขวางการรวมชาติได้อีกต่อไป เพราะชนชั้นกลางที่สนับสนุนการค้าขายระหว่างกันล้วนเป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติของกษัตริย์ฝรั่งเศส แน่นอนว่ามีหลายครั้งที่ดูเหมือนว่าจะกลับไปสู่ยุคของระบบฟิวดัลอีกครั้ง โดยเฉพาะสงครามศาสนาในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 และกบฎฟรองด์ (Fronde) ที่นำโดยข้าราชการและขุนนางระดับสูง ในกลางศตวรรษที่ 17 หากทว่าฝรั่งเศสก็ยังเดินหน้าที่จะรวมชาติกันอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในยุคสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
แม้ว่าจะเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐในปี 1870 ประเทศฝรั่งเศสก็ยังคงรวมเป็นชาติเดียวกันตราบจนกระทั่งปัจจุบัน
เนื่องจากขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ การคมนาคมภายในไม่สะดวกสบายเทียบเท่ากับอังกฤษที่มีสภาพเป็นเกาะ หากทว่าบริเวณตะวันตกติดมหาสมุทรแอตแลนติค ทางตอนเหนือติดช่องแคบอังกฤษและทะเลเหนือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จึงทำให้ฝรั่งเศสยังสามารถติดต่อค้าขายกันภายในได้ดีกว่าเยอรมันซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลน้อยกว่า สุดท้ายจึงทำให้การสร้างชาติฝรั่งเศสมีความยุ่งยากมากมายกว่าอังกฤษ หากทว่าก็สะดวกสบายกว่าเยอรมัน
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ระบบรัฐสภาไม่สามารถมีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติ เนื่องจากชนชั้นนำในแต่ละเขตแดนที่ห่างไกลไม่ปรารถนาจะเข้ามามีบทบาทในการปกครองประเทศเหมือนในอังกฤษ จึงเหลือทางเลือกเพียงหนึ่งเดียวคือ กษัตริย์จากปารีสจะต้องส่งอำนาจจากส่วนกลางเข้าไปเชื่อมต่อกับท้องถิ่น
วันใดที่อำนาจจากส่วนกลางอ่อนแอลง วันนั้นประเทศก็สุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลาย แต่เนื่องจากพลังที่เติบโตขึ้นตลอดเวลาของชนชั้นนายทุนแห่งเมืองอิสระ จึงทำให้ภารกิจสร้างชาติบรรลุเป้าหมายในที่สุด
สิ่งที่ชนชั้นกลางและพ่อค้าในเมืองอิสระต้องการจากกษัตริย์ฝรั่งเศสในช่วงเวลาแห่งการรวมชาติระหว่างศตวรรษที่ 13-17 จึงไม่ใช่เทคโนโลยีชั้นสูงหรือนวัตกรรมล้ำเลิศในการเพิ่มผลผลิตเหมือนดั่งกรณีของเยอรมันซึ่งกระบวนการและความสำเร็จในการรวมชาติเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 ไปแล้ว หากเป็นเพียงกฎหมายที่เป็นธรรมและสันติภาพที่ยืนยาว แน่นอนว่ากษัตริย์ฝรั่งเศสไม่สามารถให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ยังมีชนชั้นอภิสิทธิ์ที่ไม่ต้องเสียภาษ๊ ยังมีสงครามทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง หากกระนั้นภายใต้การปกครองของกษัตริย์ฝรั่งเศสก็ยังสามารถทำมาค้าขายได้ดีกว่าในสมัยปกครองด้วยขุนนางในระบบฟิวดัล (Feudalism)
ความลักลั่นย้อนแย้งของการรวมชาติฝรั่งเศสก็คือ ในขณะที่ชนชั้นกลางและพ่อค้าในเมืองต้องการระบบกษัตริย์เพื่อจะสนับสนุนการทำมาค้าขายของตน แต่เนื่องจากกรุงปารีสที่เป็นศูนย์กลางการปกครองไม่ได้เป็นเมืองท่าแบบลอนดอน ทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบทุนนิยมได้ ภาษีทั้งหลายที่ได้รับมาจึงถูกนำไปสร้างพระราชวังที่หรูหราและการสงครามเพื่อเกียรติยศที่สิ้นเปลืองมากกว่าจะนำไปใช้ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมและการค้าอย่างจริงจังเหมือนในประเทศอังกฤษ
ชนชั้นกลาง พ่อค้า และนายทุนของฝรั่งเศส จึงต้องปรับตัวและแสวงหาความมั่งคั่งแบบใหม่ โดยการนำเงินทองที่ได้จากการทำมาหากินมาใช้ลงทุนซื้อตำแหน่งขุนนางเพื่อแสวงหาประโยชน์ในระบบราชการ แทนที่จะนำเงินไปลงทุนในการพัฒนาการค้าและอุตสาหกรรม
ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่ความผิดของใครในการพัฒนาประเทศ หากทว่าสภาพแวดล้อมโดยรวมของประเทศได้กำหนดให้แต่ละคนในสังคมต้องปรับตัวคล้อยตาม และแสวงหาทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในแบบอุดมคติหรือตามแบบประเทศเพื่อนบ้านที่ก้าวหน้ากว่า
แม้ว่าฝรั่งเศสจะมีความอ่อนแอในการพัฒนาระบบทุนนิยมอย่างไร พลังของการรวมชาติที่เอื้ออำนวยให้เกิดการค้าขายระหว่างดินแดนภายในประเทศ การรวบรวบทรัพยากรในการทำสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนและการค้า ก็ย่อมทำให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มั่งคั่งและรุ่มรวยด้วยอารยธรรม ซึ่งสุดท้ายแม้จะพ่ายแพ้ให้อังกฤษ แต่ก็ยังครอบครองความเป็นมหาอำนาจชั้นแนวหน้าของประเทศยุโรป ที่แม้แต่ประเทศฮอลแลนด์ที่มีระบบการค้าขายซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าก็ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ เนื่องจากขีดจำกัดของขนาดประเทศและทรัพยากร
ภายใต้ขีดจำกัดของพื้นที่และการคมนาคมในสมัยโบราณ การสร้างชาติและพัฒนาระบบทุนนิยมโดยผ่านสถาบันกษัตริย์ที่มีชนชั้นกลางและระบบราชการเป็นเครื่องมือ จึงเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สุดในบริบทของประเทศฝรั่งเศส เพราะถ้าปล่อยให้แต่ละท้องถิ่นได้เติบโตตามลำพัง ถึงแม้จะสามารถเอาชนะอัศวินและขุนนางในท้องถิ่นได้ แต่ก็เพียงเปลี่ยนตัวผู้ปกครองกลุ่มใหม่และกลับไปรบพุ่งกันภายในเหมือนเดิม ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการค้าขาย การยอมให้กษัตริย์ได้ปกครองจึงเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อการพัฒนา
ฝรั่งเศสอาจไม่ใช่ประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกต่อไป หากทว่า ผลประโยชน์จากการรวมชาติได้ก่อนประเทศอื่น ก็ยังทำให้มีสถานภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป ยังไม่นับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่แม้จะดีวันดีคืน แต่ก็ยังต้องรอเวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะเทียบชั้นได้
อัตลักษณ์ของฝรั่งเศส
I think therefore I am นับเป็นคำกล่าวที่สะท้อนความเป็นฝรั่งเศสมากที่สุด หากทว่าปัจจัยใดที่ทำให้ฝรั่งเศสเป็นชนชาติที่ชอบขบคิดและตั้งคำถามเป็นที่สุด
ภูมิประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลและการคมนาคมที่ไม่สะดวกเทียบเท่าอังกฤษ ทำให้ประชาชนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ แทบไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองประเทศเลย จึงมีเพียงข้าหลวงที่นำ “ความคิด” จากศูนย์กลางของแผ่นดินที่กรุงปารีสมาบอกกล่าวและบังคับใช้เท่านั้น
ประชาชนทั่วฝรั่งเศส จึงได้แต่คิดสนับสนุนหรือคิดคัดต้านไปตามแต่ประสบการณ์และความนึกฝันส่วนตนเท่านั้น เพราะไม่เคยเห็นของจริง ไม่เคยได้ปฏิบัติหรือมีส่วนร่วมเลย
วอลแตร์ รุสโซ และมองเตสกิเออ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นธารความคิดของการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการร่วมปกครองประเทศ จึงอาศัยเพียงสิ่งที่ได้พบเห็นจากระบบการปกครองของประเทศอื่นซึ่งตนเองคิดว่าดีกว่า ผสมผสานกับความสามารถทางปัญญาและจินตนาการส่วนตัว เพื่อกลั่นกรองเป็นบทนิพนธ์ปรัชญาการเมืองที่สามารถปลุกเร้าใจประชาชน
ที่น่าเศร้าก็คือ มหาปราชญ์ทั้งสามกลับไม่มีชีวิตยืนนานพอจะเห็นการปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นจริง จึงไม่สามารถให้คำแนะนำกับชนรุ่นหลังได้ว่าความคิดของท่านนั้นถูกหรือผิดเพียงใด ต้องปรับปรุงแก้ไขตรงจุดใดบ้าง
ดังนั้น ความคิดของคนฝรั่งเศสจึงเต็มไปด้วยตรรกะเหตุผล (C’est logique) เพราะไม่ค่อยมีใครได้สัมผัสกับความเป็นจริงของประเทศที่กว้างใหญ่และเต็มไปด้วยความหลากหลาย ยิ่งกว่านั้นยังต้องมีความเป็นระบบและกระจ่างชัดเจน เพื่อจะได้สื่อสารไปให้คนอื่นในประเทศได้ร่วมรับรู้และถกเถียงกันได้
“ความหรูหรา” ของราชสำนักฝรั่งเศส จึงไม่ใช่เพียงความกระหายอยากฟุ่มเฟือยของราชวงศ์เท่านั้น หากทว่าเป็นการสื่อสารความคิดแบบหนึ่งให้กับคนฝรั่งเศสทั้งชาติ ทางหนึ่งก็เป็นการสร้างความชอบธรรมและความเหนือกว่าให้กับชนชั้นสูงในการปกครองประเทศ อีกทางหนึ่งก็เป็นการสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ให้กับประชาชนทั้งหลายที่ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสชาติของการมีส่วนร่วมเลย
จิตวิญญาณของฝรั่งเศส ที่แสดงออกผ่านทางศิลปะและวัฒนธรรม จึงย่อมปรารถนาความสูงส่งและความกระจ่างชัด (Luxury and Logic) ซึ่งแตกต่างจากอังกฤษที่เน้นความสมจริงสมจังมากกว่า ไม่เหมือนอิตาลีที่เข้าถึงทุกชนชั้นไม่แบ่งแยกสูงต่ำ ยิ่งไม่ละม้ายเยอรมันที่เน้นความคลุมเครือลี้ลับ
สิ่งที่ทำให้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศสล่มสลายลง จึงไม่ใช่ความหรูหราฟุ่มเฟือยของราชสำนัก เพราะนั่นเป็นสิ่งจำเป็นในการรวมชาติ หากทว่ากลับเป็น ความไร้ระเบียบในระบบราชการแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ขุนนางในทุกระดับชั้นต่างก็เล่นการเมืองและถ่วงดุลอำนาจไปมา จนกระทั่งทำให้การพัฒนาประเทศไม่สามารถเดินหน้าไปได้ เพราะแม้แต่องค์กษัตริย์เองก็ไม่สามารถสั่งการผ่านระบบราชการที่ขัดแข้งขัดขาไปมาเช่นนี้ ไม่ว่าจะปฏิรูปอะไรก็จะมีกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจต่อรองเข้ามาขัดแย้งขัดขวาง
ในที่สุดเมื่อนโปเลียนก้าวจากสามัญชนขึ้นสู่ตำแหน่งจักรพรรดิ ก็ได้ปฏิรูประบบกฎหมายและการบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้คนดีมีฝีมือสามารถเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจได้มากขึ้น โดยไม่ต้องติดขัดด้วยขีดจำกัดของชนชั้นอภิสิทธิ์เหมือนในระบบกษัตริย์แบบเก่า(Ancien Régime)
การปฏิวัติฝรั่งเศส จึงไม่ได้ต้องการความเท่าเทียมอย่างที่กล่าวอ้างกัน หากแต่ปรารถนาระบบการปกครองที่มีประสิทธิภาพ ในการทำให้กลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่แยกตัวไปเป็นเขตปกครองอิสระ ขณะเดียวกันก็มีเสรีภาพในการจัดการท้องถิ่นของตน ตราบใดที่ยังยอมรับการปกครองจากส่วนกลาง
ประเทศฝรั่งเศส จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องปกครองโดยชนชั้นสูงเพียงหยิบมือ (Elite) เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายที่นำไปสู่การแยกตัวเป็นอิสระของแต่ละท้องถิ่น หากทว่า การปกครองก็ไม่ควรลงลึกในระดับปฏิบัติการเพราะจะทำให้ท้องถิ่นไม่มีอิสระและความเป็นตัวของตัวเองในการสร้างสรรค์ ประชาชนฝรั่งเศสจึงพร้อมใจกันยอมรับความคิดสูงส่งที่เป็นนามธรรม (Luxury Idea) เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นได้มีอิสรภาพในการปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทที่แตกต่างของตนเอง
ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อลือชาของฝรั่งเศส จึงย่อมหนีไม่พ้นสินค้าหรูหรา (Luxury Product) ซึ่งมีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึง หากทว่าก็ยังจำกัดในสินค้าที่ไม่เน้นประโยชน์ใช้สอย ไม่ใช่ว่าคนฝรั่งเศสไม่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น แต่คนฝรั่งเศสไม่ถนัดในการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาดที่มีความอ่อนไหวแปรผันง่าย ซึ่งคนอังกฤษ เยอรมัน และอิตาลี ล้วนแต่ทำได้ดีกว่า


ในกรณีของอาหารฝรั่งเศสยิ่งชัดเจน เพราะไม่ได้เน้นที่คุณประโยชน์ ปริมาณ และสุขภาพ หากแต่เป็นรสนิยมและความเอร็ดอร่อย แม้ว่าบางครั้งจะมีรสชาติไม่ถูกลิ้นคนส่วนใหญ่ไปบ้าง แต่ก็ยังต้องฝืนรับประทานเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวัฒนธรรม
นี่คือ เสน่ห์แห่งความเป็นฝรั่งเศสที่คนทั่วโลกโหยหาและปรารถนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น