พันเอก ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง
นักวิชาการด้านความมั่นคงอิสระ
ข่าวการเสียชีวิตของ อุซามะห์ บิน ลาดิน (Osama Bin Laden) ผู้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและหัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายสากลมุสลิมนิกายซุนนี จากการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกา ได้ปรากฏเป็นข่าวที่ตามสื่อทั่วโลก นอกจากนี้ได้มีประชาชนสหรัฐฯ จำนวนมากออกมาเฉลิมฉลอง แสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะ มีความรู้สึกสะใจ หรือ ดีใจ ที่ความรู้สึกเจ็บปวดจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 11 ก.ย. 44 ได้รับการสะสางหรือแก้แค้น
อย่างไรก็ตามความดีใจเกิดขึ้นได้ไม่นานก็ปรากฏข่าวสารต่างๆ ที่ทะยอยออกตามมา ภายหลังจากการประกาศอย่างเป็นการว่า บิน ลาดิน ได้เสียชีวิต โดย บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าให้ระมัดระวังการก่อการร้ายในระดับที่สูงสุด เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการแก้แค้นให้กับ บิน ลาดิน โดยกลุ่มก่อการร้าย
นอกจากนี้การเสียชีวิตของบิน ลาดิน กับกลายมาเป็นคำถามว่าเขาเสียชีวิตจริงหรือไม่ เพราะมีการส่งภาพที่ตกแต่งโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แพร่กระจายอยู่บนอินเตอร์เน็ต ประกอบกับการปฏิบัติการต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการฝังศพ และ การตรวจ DNA ยืนยัน ทำให้หลายๆ ฝ่ายต่างกังขากับข่าวสารที่ออกมา ถึงแม้จะมีการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี โอบามา ยืนยันก็ตาม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผลกระทบจากการแถลงการณ์ฯ และการเสียชีวิตของ บิน ลาดิน จะนำไปสู่อะไรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป แต่จากนี้ไป กองกำลังของสหรัฐฯ คงจะได้กลับบ้านเพราะภารกิจที่สำคัญได้เสร็จสิ้นลงแล้ว
สถานะปัจจุบันของทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน และอิรัก
ปัจจุบันกองทัพสหรัฐฯ มีกำลังพลประจำการในอัฟกานิสถาน 90,000 นาย ภายใต้การนำของ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization : NATO) หรือที่เรียกว่า นาโต้ โดย สหรัฐฯ ได้สูญเสียกำลังไปในสมรภูมิอัฟกานิสถาน 1,406 นาย บาดเจ็บ 10,944 นาย กองกำลังรับจ้างของสหรัฐฯ (Private Military Company or Contractors) เสียชีวิต 1,764 คน และบาดเจ็บ 11,758 คน (ยอดวันที่ 4/5/54 จากเวบ Wikipedia) นับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มส่งกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน เมื่อเกือบ 10 ปีก่อนหน้านี้ ภายหลังจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 11 ก.ย. 44 ด้วยข้อกล่าวหาให้ที่พักพิงผู้ก่อการร้าย
ส่วนในพื้นทีใกล้เคียงอย่างอิรัก ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีทหารประจำการอยู่ 47,000 นาย เสียชีวิตทหารไป 4.444 นาย บาดเจ็บ 32,051 นาย เป็นทหารชาย 98% ชั้นประทวน 91% ทหารประจำการ 82% กองกำลังทหารป้องกันชาติ (National Guard) 11% ทหารที่เสียชีวิตที่อายุต่ำกว่า 25 ปี 54% ทหารบกเสียชีวิตมากที่สุด 72% สำหรับผู้บาดเจ็บ ที่สาหัสนั้นมีถึง 20% (ข้อมูลจาก เวบ usliberals.about.com)
สำหรับค่าใช้จ่ายของสหรัฐฯ ในส่งกองกำลังทหารออกมาประจำการในอัฟกานิสถาน ทางส่วนงานวิจัยของสภาสหรัฐฯ (The Congressional Research Service (CRS)) ประมาณค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 108 พันล้านบาทต่อเดือน) และรวมค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มส่งกำลังเข้าไปในอิรัก นั้นปัจจุบัน ใช้งปประมาณไปกว่า 4.01 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 120.3 ล้านล้านบาท)
ส่วนอิรักนั้นสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า โดยทางส่วนงานวิจัยของสภาสหรัฐฯ (The Congressional Research Service (CRS)) และ อิโคโนมิสต์ (The Economist) ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายของสหรัฐฯ ว่าใช้งบประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อสัปดาห์ (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์) ไปจนถึง 12 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 36 หมื่นล้านบาทต่อเดือน) และรวมค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มส่งกำลังเข้าไปในอิรัก นั้นปัจจุบัน ใช้งปประมาณไปกว่า 7.88 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 236.4 ล้านล้านบาท)
ค่าใช้จ่ายรวมทั้งในอัฟกานิสถานและอิรักจนถึงปัจจุบันนั้นสหรัฐฯ ใช้งบประมาณรวม 11.89 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 356.7 ล้านล้านบาท) หากอยากทราบว่าเป็นงบประมาณทีมากแค่ไหน ให้ลองเปรียบเทียบดูกับ GDP ของประเทศไทยในปี 53 อยู่ที่ 584.768 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว สหรัฐฯ จะมีค่าใช้จ่ายในสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ต่อปีนั้นประมาณหนึ่งในสามของ GDP ประเทศไทย
ส่วนสาเหตุที่ค่าใช้จ่ายในอิรักของสหรัฐฯ ใช้งบประมาณที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายในอัฟกานิสถาน เพราะสหรัฐฯ รับผิดชอบการปฏิบัติการในอิรักทั้งหมด ส่วนในอัฟกานิสถานนั้น องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ จะเป็นผู้ที่รับผิดชอบหลัก สหรัฐฯ นั้นเพียงแต่ส่งกำลังทหารเข้าร่วม (เข้าร่วมในสัดส่วนมากที่สุด) โดยในสหรัฐฯ นั้นมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการส่งกำลังทหารเข้าไปใน อิรักและอัฟกานิสถาน ได้พยายามเผยแพร่ข้อมูลงบประมาณ และการสูญเสีย ตัวอย่างเช่น ในเวบไซต์ cost of war ได้แสดงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในหลักวินาที
นโยบายพาทหารกลับบ้าน
หากย้อนไปในช่วงก่อนที่ประธานาธิบดี โอบามา จะขึ้นรับตำแหน่งนั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนคือ เขามีนโยบายที่สวนทางกับ อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในเรื่องการทำสงครามกับอิรัก ประธานาธิบดี โอบามา นั้นมีท่าที่ต่อต้านการทำสงครามกับอิรัก และยังเคยหาเสียงด้วยซ้ำว่า หากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานธิบดีสหรัฐฯ เขาจะถอนกำลังออกจากอิรักภายใน 16 เดือน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดี โอบามา ยังได้แสดงเจตจำนงค์ตอนหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีว่า ถ้าหากเขาได้รับเลือกตั้ง เขาจะออกกฎหมายตัดงบประมาณประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อยุติการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่สามารถพิสูจน์ที่มาได้ เพื่อนำมาใช้ในระบบการป้องกันประเทศ มีแนวคิดที่จะลดการพัฒนาขีดความสามารถทางการรบและระบบอาวุธลง รวมถึงการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด โดยเริ่มจากการลดการสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ที่มีประจำการในปัจจุบันลง อีกทั้งออกกฎหมายห้ามการผลิตหรือหาวัตถุดิบในการผลิตอาวุธ จากทั่งโลก รวมถึงความพยายามในการหาทางเจรจากับรัสเซียเพื่อลด ขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่าง สหรัฐฯ กับรัสเซีย
ต่อมาเมื่อโอบามาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 19 ม.ค.52 และ เมื่อ เม.ย.52 ประธานาธีบดี โอบามา ได้เดินทางไปที่อิรัก และกล่าวว่า เขาจะลดทหารสหรัฐฯ และถอนกำลังทหารออกจากอิรักลงในห้วงเวลา 18 เดือนข้างหน้า และให้ชาวอิรัก เลือกแนวทางความมั่นคงและรับผิดชอบตนเอง หลังจากการตัดสินใจยุติภารกิจในอิรัก โดยการค่อยๆ ลดกำลังทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการลง ทำให้สหรัฐฯ สามารถที่จะเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานได้ ต่อมาเมื่อ ธ.ค.52 ประธานาธิบดี โอบามา ได้ประกาศเพิ่มทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานจำนวน 35,000 นาย ตามที่ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ และองค์การนาโตในอัฟกานิสถาน ร้องขอ
|
ภาพที่ 1 สถิติการเสียชีวิต International Security Assistance Forc: ISAF ในอัฟกานิสถาน |
ในภาพที่ 1 แสดงให้เห็นระดับความรุนแรงของสถานการณ์ที่มีทิศทางที่รุนแรงมาในห้วง ปี 50 และสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้นเรื่อย จนกระทั้ง สหรัฐฯ เพิ่มกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน ในปี 53 โดยการปฏิบัติการทางทหารที่เพิ่มมากขึ้นได้ส่งผลให้ กองกำลัง ISAF เริ่มทำการรุก ทำให้กลุ่มตาลีบาน เสียชีวิตไปกว่า 900 คน และในช่วงดังกล่าวมีการใช้ ระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Device) จำนวนมาก และส่งผลให้ทหารของ ISAF ที่มีสหรัฐฯ ประจำการเป็นจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย
แต่บนการปฏิบัติการทางหหารที่เพิ่มมากขึ้น ในทางกลับกัน ก็เริ่มมีการผลักดันใหเกิดการเจรจา โดยประธานาธิบดี ฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) ของอัฟกานิสถาน เพื่อให้เกิดสันติภาพมากขึ้นไป โดยความพยายามจะเจรจากับกลุ่มตาลีบาน พร้อมๆ กับการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ แต่ในช่วงเดือน ก.ค53 สหรัฐฯ ก็เริ่มประสบปัญหาในการปฏิบัติการพอสมควร เนื่องจากชาวบ้านไม่ชอบทหาร ไม่ยอมรับความช่วยเหลือต่างๆ จากกองทัพสหรัฐฯ และรวมไปถึงการขว้างปาหินใส่กองกำลังทหารสหรัฐฯ ขณะกำลังลาดตระเวณ
แต่อย่างไรก็ตามตลอดช่วงปี 53 สหรัฐฯ ได้เพิ่มระดับการปฏิบัติการทางทหารจำนวนมาก เพื่อกดดันกับกลุ่มตาลีบาน และสหรัฐฯ ยังมีแผนที่จะถอนกำลังออกจาก อัฟกานิสถาน โดยส่งมอบการรักษาเสถียรภาพให้กับกองกำลังรักษาความปลอดภัยของอัฟกานิสถาน ในเดือน ก.ค.54 ดังจะเห็นได้จากการเร่งสร้างกองทัพกองทัพบกอัฟกานิสถาน จำนวน 134,000 นาย เมื่อ ต.ค.53 และมีเป้าหมายให้กองทัพอัฟกานิสถานมีกำลังทหารบก 171,000 นาย ภายในปี 54
|
ภาพที่ 2 แสดงระดับกำลังสหรัฐฯ ที่ประจำการในอิรัก
ในสำหรับสถานการณ์ในอิรัก ภาพที่ 2 จะแสดงให้เห็นถึงกำลังทหารประจำการในอิรักมีแนวโน้มที่ลดลงตามนโยบายของ ประธานาธิบดี โอบามา ประกาศไว้เมื่อ 1 ก.ย.53 อย่างเป็นทางการว่าจะยุติภารกิจสู้รบของทหารอเมริกันในอิรักที่ดำเนินมานาน 7 ปี และบอกกับชาวอเมริกันว่าภารกิจหลักคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐ โดยกล่าวชมกองทัพว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ เสียสละ รวมถึงกล่าวว่าภารกิจสู้รบของทหารอเมริกันในอิรักได้ยุติลงแล้ว ต่อจากนี้ไปสหรัฐฯ จะเริ่มถอนกำลังออกจากอิรัก และให้ชาวอิรักจัดการและรับผิดชอบดูแลความมั่นคงของประเทศตนเอง และเขายังได้กล่าวยืนยันว่าเขาได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้งว่าเขาจะนำทหารสหรัฐฯ กลับบ้าน
ผลจากการประกาศยุติการส่งทหารเข้าไปประจำการในอิรัก ของประธานาธิบดี โอบามา ได้มีนักวิเคราะห์หลายคนได้มองว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดี โอบามา ครั้งนี้จะส่งผลต่อคะแนนนิยมของเขา 4 ด้านคือ
1) เป็นการทำตามนโยบายที่ได้ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง ทำให้ได้คะแนนนิยมในด้านการเป็นผู้นำ
2) เป็นการประหยัดงบประมาณจำนวนมหาศาลที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเพื่อทำสงคราม ซึ่งจะส่งผลให้ได้คะแนนนิยมในด้านเศรษฐกิจ
3) เป็นการสงวนทรัพยากรทางทหารเพื่อให้สหรัฐฯ สามารถบริหารจัดการกิจการด้านความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับคะแนนนิยมในด้านความมั่นคง
4) เป็นการเพิ่ม บทบาทที่ดีขึ้นกับประเทศมุสลิม หากมีการถอนทหารออกจากพื้นที่ตะวันออกกลางจริง ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับคะแนนนิยมในด้านกิจการต่างประเทศและการทูต
ผลจากการปฏิบัติการสังหารบิน ลาเดน
จากที่กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่าการที่สหรัฐฯ ส่งกำลังทหารออกมายังตะวันออกกลาง เป็นระยะเวลานาน ด้วยสาเหตุเริ่มแรกคือ ภายหลังจากการก่อวินาศกรรม 11 ก.ย.44 ด้วยการกล่าวหาว่ากลุ่มอัลกออิดะห์ ที่มี นาย บิน ลาเดน เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมากว่า 10 ปี สหรัฐฯ ได้สูญเสียงบประมาณ จำนวนมหาศาล และชีวิตทหารจำนวมาก และยังไม่มีแนวโน้มที่สถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น ประกอบกับการเข้าการส่งกำลังออกไปยังอัฟกานิสถานและอิรัก นั้นเป็นนโยบายของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช สังกัดพรรคริพับลิกัน แต่ปัจจุบัน เก้าอี้ประธานาธิบดี ได้เป็นของ โอบามา สังกัดพรรคเดโมแครต ผู้ซึ่งมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะพาทหาสหรัฐฯ ที่อยู่ในอิรัก และอัฟกานิสถาน กลับบ้าน
ประกอบกับเดือน ก.ค.54 นี้ สหรัฐฯ มีแผนที่จะถอนกำลังออกจาก อัฟกานิสถาน การเสียชีวิตครั้งนี้ของ บิน ลาเดน จึงเป็นเรื่องที่สามารถตอบคำถามการถอนกำลังกลับได้เป็นอย่างดียิ่ง เพราะสาเหตุของการส่งทหารออกเพื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ได้บรรลุผล เป็นการแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กลับบ้านมือเปล่า สามารถซื้อใจประชาชนชาวอเมริกันไว้ได้
ความจริงหากเข้าใจการเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯ ในปี 53 และการเพิ่มระดับการปฏิบัติการทางทหารที่ไล่ล่า ผู้นำตาลีบาน จวบจนกระทั่งเจอบิน ลาเดน และสังหารได้ในที่สุดนั้น เป็นเหตุการณ์ที่มีความต่อเนื่องและสมเหตุสมผล สหรัฐฯ สามารถสังหารผู้นำตาลีบานได้ถึง 900 คน นั่นก็หมายถึง การสลายขีดความสามารถของตาลีบาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่คอยคุ้มครองให้กลุ่มอัลกออิดะห์ ทำให้ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนและสอดคล้องกับแผนการถอนทหารที่จะเกิดขึ้น ใน ก.ค.54 นี้
ถึงแม้การเสียชีวิตของบิน ลาเดนนั้น หลายฝ่ายอาจจะมีข้อสงสัยว่าเขาเสียชีวิตจริงหรือไม่ เขาอาจจะยังไม่เสียชีวิต หรือเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่นั่นก็ไม่สำคัญ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรการเสียชีวิตของ บิน ลาดิน โดยการประกาศอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ได้กลายมาเป็นสัญญาลักษณ์ของการสิ้นสุดภารกิจที่ยาวนาน และเสียงบประมาณและชีวิตคนอเมริกัน ไปจำนวนมาก และกองทัพสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โอบามา ได้เป็นวีรบุรุษผู้ที่ได้แก้แค้นให้กับอเมริกันชน
แต่ความจริงแล้วถึงแม้ สหรัฐฯ จะถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะทิ้งอัฟกานิสถานไปอย่างถาวร แต่ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ได้ลงทุนสร้างสิ่งปลูกสร้างสำรับการเป็นฐานทัพถาวรในอัฟกานิสถาน สองถึงสามแห่ง ประกอบกับ ในปี 53 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศจาก เพนตากอน ว่ามีการค้นพบสินแร่ที่มีมูลค่า กว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จนมีการกล่าวกันว่า อัฟกานิสถาน จะกลายเป็น “Saudi Arabia of lithium” หรือ เป็นประเทศที่อุดมไปด้วยลิเทียม
ไม่เพียงแต่มีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์แล้ว อัฟกานิสถานยังเป็นประเทศที่มีภูมิรัฐศาสตร์ดีในแง่ภูมิประเทศสูงข่ม เพราะเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศอิหร่าน ชายแดนติดประเทศปากีสถานที่มีชายแดนติดกับอินเดีย และประเทศทาจิกิสถานที่มีชายแดนติดกับจีน ซึ่งหากมองผ่านมิติภูมิรัฐศาสตร์แล้ว อัฟกานสถานเป็นประเทศที่มี ภูมิยุทธศาสตร์ดี ที่เชื่อมโยงกับ 3 ประเทศที่มีความเกี่ยวพันเชิงผลประโยชน์กับ สหรัฐฯ คือ อิหร่าน จีน และ อินเดีย
ดังนั้นการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ที่เข้าสังหาร บิน ลาเดน จึงกลายมาเป็น จุดเริ่มที่ทหารสหรัฐฯ จะได้กลับบ้านเกิด ไม่ต้องมาเสี่ยงชีวิต ต่อจากนี้ไปจะทำการโอนความเสี่ยงให้กับ กองทัพอัฟกานิสถานให้สู้รบกับตาลีบานต่อไป ส่วนสหรัฐฯ ก็อาจจะคงกำลังไว้ในลักษณะของการเป็นที่ปรึกษาทางทหาร และ อาจจะได้ประโยชน์จากการเข้าไปมีสัมปทาน แร่ลิเทียม ในอัฟกานิสถาน และหลังจากทหารกลับบ้าน ทหารเหล่านั้นและพ่อแม่ญาติพี่น้องของทหารเหล่านั้น ก็จะพากันไปเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้ที่เป็นวีรบุรุษของชาวอเมริกันชน ที่สามารถแก้แค้นให้กับคนทั้งชาติ เรื่องเหล่านี้เป็นแค่นิทานที่ผมเล่า อย่าเชื่อเรื่องเล่าผมแต่ต้องรอดูกันต่อไป ...................เอวังครับ |